อาโลกสัญญา การทำกำหนดหมายในใจว่าสว่าง
ก็คือดึงหรือระลึกถึง เจตสิกในช่วงตอนกลางวัน ที่จิตได้สัมปยุต กับความรู้สึกว่าสว่าง
อรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕
พึงทราบวินิจฉัยในสคารวสูตรที่ ๕.
บทว่า ปเคว แปลว่า ก่อนทีเดียว.
บทว่า กามราคปริยุฏฺฐิเตน ได้แก่ อันกามราคะเหนี่ยวไว้.
บทว่า กามราคปเรเตน ได้แก่ ไปตามกามราคะ.
บทว่า นิสฺสรณํ ความว่า อุบายเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะมี ๓ อย่างคือ
วิกขัมภนนิสสรณะ สลัดออกด้วยการข่มไว้
ตทังคนิสสรณะสลัดออกชั่วคราว
สมุจเฉทนิสสรณะ สลัดออกได้เด็ดขาด.
ในอุบายเครื่องสลัดออก ๓ อย่างนี้ ปฐมฌานในอสุภะ ชื่อว่าสลัดออกด้วยการข่มไว้. วิปัสสนา ชื่อว่าสลัดออกได้ชั่วคราว. อรหัตมรรค ชื่อว่าสลัดออกได้เด็ดขาด.
อธิบายว่า เขาย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกแม้สามอย่างนั้น.
ในบทว่า อตฺตตฺถมฺปีติ เป็นต้น ประโยชน์ตนกล่าวคืออรหัต ชื่อว่าประโยชน์ของตน. ประโยชน์ของผู้ถวายปัจจัยทั้งหลาย ชื่อว่าประโยชน์ของคนอื่น. ประโยชน์แม้สองอย่างนั้นแล ชื่อว่าประโยชน์ทั้งสอง.
ในวาระทั้งปวงพึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้.
ส่วนความต่างกันดังนี้ ก็ในบทว่า พฺยาปาทสฺส นิสฺสรณํ เป็นต้น มีอุบายเครื่องสลัดออกสองอย่าง คือวิกขัมภนนิสสรณะ การสลัดออกด้วยการข่มไว้ และสมุจเฉทนิสสรณะ การสลัดออกได้เด็ดขาด.
ในอุบายทั้ง ๒ นั้น ปฐมฌานในเมตตาสลัดพยาบาทออกได้ด้วยการข่ม. อนาคามิมรรคสลัดพยาบาทออกได้เด็ดขาด. อาโลกสัญญาสลัดถีนมิทธะออกได้ด้วยการข่ม. อรหัตมรรคสลัดออกได้เด็ดขาด. สมถกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งสลัดอุทธัจจกุกกุจจะออกได้ด้วยการข่ม. ส่วนในอุทธัจจกุกกุจจะนี้ อรหัตมรรคเป็นเครื่องสลัดอุทธัจจะออกได้เด็ดขาด. อนาคามิมรรคเป็นเครื่องสลัดกุกกุจจะออกได้เด็ดขาด. การกำหนดธรรมเป็นเครื่องสลัดวิจิกิจฉาออกได้ด้วยการข่ม. ปฐมมรรคเป็นเครื่องสลัดออกได้เด็ดขาด.
ส่วนในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุปมามีบทว่า เสยฺยถาปิ พฺราหฺมณ อุทปตฺโต สํสฏฺโฐ ลาขาย วา เป็นต้นใด ในอุปมาเหล่านั้น
บทว่า อุทปตฺโต ได้แก่ ภาชนะเต็มด้วยน้ำ.
บทว่า สํสฏฺโฐ ได้แก่ ระคนด้วยอำนาจทำสีให้ต่างกัน.
บทว่า อุสฺมาทกชาโต คือ มีไอพลุ่งขึ้น.
บทว่า เสวาลปณกปริโยนทฺโธ ความว่า อันสาหร่ายอันต่างด้วยพืชงาเป็นต้น หรืออันจอกแหนมีสีหลังเขียวเกิดขึ้นปิดหลังน้ำปกคลุมไว้.
บทว่า วาเตริโต ได้แก่ ถูกลมพัดหวั่นไหว.
บทว่า อาวิโล คือ ไม่ใส.
บทว่า ลุฬิโต คือ ไม่นิ่ง.
บทว่า กลลีภูโต คือ เปือกตม.
บทว่า อนิธกาเร นิกฺขิตฺโต ได้แก่ อันบุคคลวางไว้ในที่ไม่สว่างมีระหว่างฉางเป็นต้นเป็นประเภท.
ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกลับเทศนาจากภพทั้งสามแล้ว ทรงให้เทศนาจบลงด้วยธรรมอันเป็นยอดคืออรหัต.
ส่วนพราหมณ์ตั้งอยู่แล้วในทางอันสงบ.
จบอรรถกถาสคารวสูตรที่ ๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น