1. การเก็บอติเรกบาตร ไว้เกิน 10 วัน

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ปัตตวรรค สิกขาบทที่ 1

ทะสาหะปะระมัง อะติเรกะปัตโต ธาเรตัพโพ,ตัง…

“พึงทรงอติเรกบาตรไว้ได้ 10 วัน เป็นอย่างสูง, ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป,

เป็นนิสสัคคิยปาิจิตตีย์.”

วิภังค์

ที่ชื่อว่า อติเรกบาตร ได้แก่ บาตรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป. ( ทำวินัยกรรมให้เป็นของสองเจ้าของ)

ที่ชื่อว่า บาตร มี 2 อย่าง คือ บาตรเหล็ก 1 บาตรดินเผา 1.

อนาบัติ

1.ภิกษุอธิษฐาน 2.ภิกษุวิกัปไว้ 3.ภิกษุสละให้ไป 4.บาตรหายไป 5.บาตรฉิบหาย 6.บาตรแตก 7.โจรชิงเอาไป 8.ภิกษุถือวิสาสะ 9.ในภายใน 10 วัน 10.ภิกษุวิกลจริต 11.ภิกษุอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติแล

เรื่องต้นบัญญัติ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ สะสมบาตรไว้เป็นอันมาก ถูกมนุษย์ติเตียนว่าเป็นพ่อค้าบาตร พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุเก็บอติเรกบาตรต่อมามีอติเรกบาตรเกิดขึ้นแก่พระอานนท์ ท่านต้องการถวายแก่พระสารีบุตรซึ่งอีก 10 วันจึงจะกลับมา จึงทรงให้เก็บอติเรกบาตรได้ 10 วันเป็นอย่างยิ่ง.

ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ให้คืนบาตรที่เสียสละ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บาตรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุรูปใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

Advertisements
REPORT THIS AD