#อมตวัชรวจีหลวงป๋า
#เหตุใดจึงต้องใช้ดวงแก้วในการเจริญภาวนา
กสิณกลาง คือ อาโลกกสิณ
นั้นดีอย่างไร ?
ใครมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ถ้าเอากสิณเพ่งอยู่ในใจ นึกให้เห็นอยู่ในใจ ผูกใจไม่ให้วอกแวกไปได้โดยง่าย เหมือนที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี ท่านบอกว่า เหมือนกับเราเอาเชือกผูกล่ามลูกโคติดกับหลัก ลูกโควิ่งวนไปวนมาๆ ประเดี๋ยวก็เหนื่อย ก็นอนแหมะลงตรงนั้น จิตเราเหมือนลิง เพราะฉะนั้น กสิณนี่แหละ ผูกใจให้อยู่ในที่ที่เราต้องการให้ใจหยุดอยู่
เรื่องการเพ่งกสิณนี่ เขาปฏิบัติกันมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่ว่าปฏิบัติแล้วทำไมจึงไม่เกิดประโยชน์สูงสุด คือมรรคผลนิพพาน เกิดประโยชน์แค่ว่า ไปอุบัติในพรหมโลกเท่านั้น คือ เป็นแต่สมถะเฉยๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
เพราะใจที่จะให้เป็นสมาธิ ไม่ถูกที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ให้สามารถเข้าไปรู้-เห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม สุดละเอียดไปถึงธรรมกาย ถึงนิพพาน ปฏิบัติทางจิตไม่ถูกมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางของจิต เพราะฉะนั้น ถ้าใครคลำทางตรงนี้ถูก คือ ถ้ากำหนดใจให้เป็นสมาธิตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็ถูกทางสายกลาง ถูกมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยตรง ถึงนิพพาน
ทีนี้ ที่จะให้ได้ผลดีที่สุด ก็กสิณนี่แหละ ผูกใจผู้ปฏิบัติได้ดีที่สุด จึงเหมาะกับจริตอัธยาศัยทุกอัธยาศัย ถ้าใครปฏิบัติภาวนาสมาธิด้วยวิธีเพ่งกสิณแล้ว มีอานุภาพให้ถึงจตุตถฌานได้โดยสะดวก นี้มีอานุภาพอย่างนี้
วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนา มีทั้ง ๔๐ วิธี มีอานุภาพให้เข้าถึงฌานต่างๆ ไม่เท่ากัน
ที่มีอานุภาพสูง ได้ผลสูง ก็กสิณนี้แหละ กสิณทั้งหมดนี่ก็มารวมที่กสิณกลาง คือ อาโลกกสิณนั่นเอง เมื่อเป็นดวงใสสว่างตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว ตรงนี้เป็นเคล็ดลับของวิชชาธรรมกาย ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือว่า อาโลกกสิณเมื่อตั้งจิตถูกที่ คือ รวมใจให้หยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใส ประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี่แหละ เป็นที่ตั้งของธาตุละเอียดของขันธ์ ๕...อายตนะ ๑๒...ธาตุ ๑๘...อินทรีย์ ๒๒...อริยสัจ ๔...ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒... ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆกันเข้าไปข้างในจนสุดละเอียด
ทีนี้ เมื่อเป็นที่ตั้งที่รวมของขันธ์ ๕...อายตนะ ๑๒...ธาตุ ๑๘ ท่านคงทราบว่ามี ธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรับรู้ คือ วิญญาณต่างๆ ให้รับรู้ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งธาตุรับรู้อยู่ตรงกลาง พอใจหยุดมารวมอยู่ตรงกลาง ก็มีอานุภาพสำคัญเกิดขึ้น ให้ผลดียิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ทิพพจักษุ ทิพพโสต เกิดขึ้นและเจริญดีแท้ตั้งแต่เริ่มต้น
เฉพาะตัวอาโลกกสิณเองนั้น ทำให้ทิพพจักษุ ทิพพโสต เจริญขึ้นอย่างเร็ว ทีนี้ เมื่อทิพพจักษุ ทิพพโสต ตั้งอยู่ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ณ ภายใน เข้าไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย และสุดละเอียดถึงนิพพาน ตรงกลางของกลาง กำเนิดธาตุธรรมเดิมนั่นเอง จึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ให้ผลในการได้รู้ ได้เห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ถึงอายตนะนิพพาน ได้อย่างถูกต้องแน่นอน ดีกว่าการเจริญภาวนาสมาธิโดยวิธีอื่น และการตั้งใจไว้ ณ ที่อื่น และก็ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ของกายในกาย สุดกายหยาบกายละเอียดนี้เอง จึงเป็น " เอกายนมรรค ทางสายเอก เป็นทางไปของพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย นี่รับกันไปหมดอย่างนี้
เพราะฉะนั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านได้พบว่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายก็อยู่ตรงนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณกลาง ยังให้ทิพพจักษุ และ ทิพพโสต เกิดและเจริญขึ้น ท่านก็เลยให้นึกให้เห็นดวงแก้ว ซึ่งเป็นบริกรรมนิมิตเทียบเคียงกับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ๑ และเป็นบริกรรมนิมิตด้วยอาโลกกสิณอีก ๑
เพราะอาโลกกสิณนี้ เมื่อเพ่ง เมื่อดูแสงสว่างจำได้ติดตาแล้วเป็นอุคคหนิมิต แล้วนั้นแหละ จะเห็นเป็นดวงใส เพราะฉะนั้น ท่านให้นึกให้เห็นดวงใสเลย เอาขั้นกลางหรือระดับกลางของอาโลกกสิณมาใช้ เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายเลย เห็นไหม ความลึกซึ้ง แม้เพียงธรรมปฏิบัติเบื้องต้นอย่างเดียวของหลวงพ่อ ลึกซึ้งถึงเพียงนี้
เพราะฉะนั้น คนไม่รู้ก็ว่า ทำไมถึงไปนั่งเพ่งดูดวงแก้ว เขาไม่รู้ว่าดวงแก้วนี้ เป็นส่วนที่เจริญมาจากอาโลกกสิณ ในระดับอุคคหนิมิต ที่จะเจริญขึ้นไปเป็นปฏิภาคนิมิต และนี้ เป็นกสิณกลางที่จะให้เกิดและเจริญทิพพจักษุ ทิพพโสต อันจะนำไปสู่สมันตจักษุ และ พุทธจักษุ เมื่อปฏิบัติถึงธรรมกาย และถึงนิพพาน เห็นไหมล่ะ ลึกซึ้งอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น นี่แหละ เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องใช้ดวงแก้วในการเจริญภาวนา
____________________
#สมันตจักษุ :: ตาเห็นรอบ ที่หยั่งรู้ธรรมทั้งปวง ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ
#พุทธจักษุ ::จักษุของพระพุทธเจ้า ได้แก่ ญาณที่หยั่งรู้อัธยาศัย อุปนิสัย และอินทรีย์ ที่ยิ่งหย่อนต่างๆของเวไนยสัตว์
........................
........................
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น