วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566

คุณหมอวิทยา นาควัชระเรื่อง ‘เลี้ยงลูกให้เป็นทรพี’ มาให้อ่าน

เมื่อวานมีคนแชร์บทความของ
คุณหมอวิทยา นาควัชระ
เรื่อง ‘เลี้ยงลูกให้เป็นทรพี’ มาให้อ่าน
http://bit.ly/2aag6Ev
ซึ่งอ่านแล้วผมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
เพราะหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับจากพ่อแม่ของเด็กบ่อยที่สุด
คือ ทำไมลูกดื้อนัก ทำไมลูกก้าวร้าวนัก
สอนอะไรไม่ฟัง อบรมแค่ไหนก็เมิน ใช้อุบายไหนก็ไร้ผล
ยิ่งวันยิ่งเอาใหญ่ จะบ้าตายอยู่แล้ว

เด็กบางคนไม่สมควรโดน
เพราะพูดรู้เรื่อง และได้อะไรดีๆจากพ่อแม่ไว้มากพอ
ขณะที่เด็กบางคนสมควรโดน
เพราะมีเหตุปัจจัยให้แผลงฤทธิ์แรงขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ฟังใคร ไม่มีความสามารถแยกถูกแยกผิด
ใช้อุบายชนิดไหนก็ไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม
พวกเราอยู่ในยุคที่ต่อต้านการตีลูก
เพราะเคยมีวิจัยว่า เด็กที่ถูกตี
จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง
หมายความว่า ต่อให้เด็กสมควรถูกตีอย่างไร
ก็ไม่มีสิทธิ์ตีทั้งนั้น
นั่นจึงเป็นเหตุให้เด็กหลายคนโตขึ้นแบบพร้อมทำร้ายสังคม
เพราะแท้จริงแล้ว ความก้าวร้าว และการใช้ความรุนแรง
เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นได้เอง จากการเอาแต่ใจ แตะไม่ได้
ไม่จำเป็นต้องมาจากความเจ็บปวดในวัยเด็กเสมอไป

อีกประการหนึ่ง เมื่อพูดถึงการลงโทษด้วยการตี
เราไม่ได้แยกแยะกันว่า
ตีนั้นตีด้วยมือหรือตีด้วยไม้เรียว
ก่อนตีมีการสั่งสอนและให้เหตุผลในการตีกับเด็กแค่ไหน
ท่าทีในการตีประกอบด้วยอารมณ์รักหรืออารมณ์โกรธ
หลังตีเสร็จปล่อยให้เด็กร้องไห้ตามลำพังหรือกอดเขาไว้
หากงานวิจัยละเอียดพอ
ก็น่าจะพบว่า ตีให้ลูกได้ดีนั้น เป็นไปได้จริง

ที่พวกเรามาเข้าท้องมนุษย์ได้
ต้องพกบุญมาเกิดกันทุกคน
ต่อให้ไปเกิดในเอธิโอเปียหรือแอฟริกาเขตอดอยาก
ก็ต้องใช้บุญเป็นใบเบิกทาง
ไม่มีใครเกิดเป็นมนุษย์ได้ด้วยบาป
ธรรมชาติความเป็นมนุษย์คือมีสมองคิด มีภาษาพูด
กับทั้งจิตสำนึกแบบสิ่งมีชีวิตชั้นสูง
ซึ่งสะท้อนว่า เคยทำดี จึงได้ของดีติดตัวมาแต่เกิด
แตกต่างจากเหล่าสัตว์อื่นทั้งหลายในโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกเกิดนั้น
มนุษย์มาพร้อมกับสัญชาตญาณและอารมณ์ดิบ
ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป
ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร
ยังไม่รู้ว่ามีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์แค่ไหน
จะเริ่มรู้บ้างก็จากพ่อแม่ หรือคนที่เลี้ยงดูมา

ถ้าเด็กน้อยอยากได้อะไรแล้วได้ทุกอย่าง
ทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีความกลัวผิด
ไม่มีใครที่เขารู้สึกว่าเป็น ‘ผู้ควบคุมชีวิต’
ชีวิตของเขาจะไม่พ้นจากสัญชาตญาณและอารมณ์ดิบ
ความรู้สึกที่ค่อยๆเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆระหว่างโตมา คือ 
อยากได้ ต้องได้! กูใหญ่ อย่ามาว่านะ!
พูดให้เห็นภาพ คือ ถ้าเขาเคยมีบุญใหญ่มาหลายชาติ
ก็มีสิทธิ์มาหมดบุญ ก่อบาปก่อกรรม
เอาในชาติที่เกิดกับพ่อแม่ดีแล้วไม่ตีนี่แหละ!

ถ้าเด็กน้อยเริ่มลามปาม 
แล้วมีผู้ใหญ่ใจดี กล้าตีให้เจ็บ ให้เข็ดหลาบ
เขาจะเริ่มเกิดความกลัวความผิด
ถ้าจะทำผิดซ้ำ ก็มีความกลัวมาเป็นกลไกในการเบรกไว้
เหมือนพอมีแรงยุให้ทำเรื่องร้ายๆ
ก็มีภาพใบหน้าของผู้ใหญ่และความเจ็บตัวลอยขึ้นมาแทรก
ยิ่งโตขึ้นมา ก็ยิ่งมีความยับยั้งชั่งใจ
พร้อมกับการยอมรับให้ใครคนหนึ่ง เป็นผู้คุมทิศทางชีวิต

สรุปคือ ถ้าเด็กส่อแววดื้อ ส่อแววก่อเรื่องเสียหาย
ส่อแววลามปาม ส่อแววเอาใหญ่ ไม่ฟังเสียงห้าม
ถ้าเดินได้แล้ว วิ่งได้แล้ว ร่างกายแข็งแรงพอแล้ว
ก็สมควรมีการ ‘ตีให้กลัวความผิด’ บ้าง 
ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย หรือคิดว่าเดี๋ยวพูดรู้เรื่องก็ดีขึ้นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเห็นๆอยู่ว่า 
ทำผิดแล้วมองมาด้วยสายตาท้าทาย
ดูว่าคุณจะทำอย่างไรกับเขา 
อันนั้นแหละ สัญญาณบอกว่า คุณต้องตีแน่ๆแล้ว

โจทย์สำคัญ คือ ตีอย่างไรให้ลูกทั้งรัก ทั้งกลัว
จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่การลงมือตี
แต่ตั้งหลักกันตั้งแต่ความใกล้ชิดทั้งหมด
เด็กจะจำว่า ตัวตนของคุณที่เขาคุ้นเคยมาตลอด
น่าอบอุ่น น่าใกล้ชิด น่าให้กอด
หรือว่าห่างเหิน ปล่อยให้เขาหนาว แทบไม่รู้จักอ้อมกอดกันเลย

หากพื้นฐานความรู้สึกของเขา คือรักคุณ
เมื่อคุณตีเขาเจ็บ เขาจะไม่เกลียด 
แต่จะเกรงกลัว และจดจำว่าเขาทำอะไรผิด คุณถึงลงมือตี
ความเจ็บจริงจะทำให้จำแม่นไม่ลืม ไม่ว่าความผิดกี่กระทง

ก่อนตี ควรสอนว่าเขาทำไม่ถูกอย่างไร ควรทำอย่างไร
ความผิดนั้นหนักพอให้ต้องถูกทำโทษแล้ว ปล่อยไม่ได้แล้ว
ไม่งั้นผีเด็กเข้าสิงแล้วจะไม่ยอมออก ยึดร่างลูกไว้เลย
และที่สำคัญ อย่าตีต่อหน้าผู้คน ให้ตีแบบลับหูลับตา
แม้เขาทำผิดในที่สาธารณะ ก็ให้คาดโทษไว้ว่า
กลับบ้าน พ่อ/แม่ จะตีนะ ลูกทำแบบนี้ ให้จำไว้นะ
คุณต้องเข้มแข็ง อย่าใช้วิธีขู่
ให้พิจารณาดีแล้วว่า ลูกดื้อจริง สมควรโดนจริง
ถ้าลั่นปากว่าจะตี ต้องตี ห้ามลืม ห้ามใจอ่อน
และอย่าปล่อยให้ความโกรธครอบงำ พลั้งปากเรื่อยเปื่อย
เพราะการตีบ่อยเกินไป ไม่สมเหตุสมผล
จะกลายเป็นการฝังความนิยมใช้การรุนแรงให้เด็กไปแทน

อารมณ์ ควรเป็นเมตตา
สิ่งที่สื่ออารมณ์ได้ชัดเจนที่สุดคือน้ำเสียง
ภาษากายยังเป็นรอง น้ำเสียงต้องเย็นเสมอ
ถ้าจะสำรวจตัวเอง ให้สำรวจจากน้ำเสียงนั่นแหละว่า
ฟังแล้วแข็ง หรือฟังแล้วอ่อนโยนพอ

อุปกรณ์ตี ควรเป็นมือ
เพราะคุณจะได้แบมือแดงๆอธิบายทีหลังว่า
พ่อ/แม่ ตีลูก รู้นะว่าลูกเจ็บยังไง
เพราะพ่อ/แม่ ก็เจ็บเท่ากับลูกนั่นแหละ
เด็กจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่คิดว่าเจ็บอยู่คนเดียว
ตัวเองผิดแล้วยังทำให้พ่อ/แม่เจ็บด้วย

จุดที่ตี ควรเป็นก้น แบบเนื้อสัมผัสเนื้อ
เพื่อให้เจ็บจริง แต่ไม่เจ็บใจ
อย่าตบหน้าลูก เพราะอันนั้นทั้งเจ็บตัวและเจ็บใจ

ใจขณะตี ต้องเหี้ยมและเด็ดขาดนิดหนึ่ง
ต้องกะแรงให้เจ็บ ไม่ใช่ยั้งๆ
ไม่อย่างนั้นเขาจะเฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สา 
ไม่เห็นเป็นการทำโทษ แต่เห็นคุณแสดงความหน่อมแน้ม
ถ้าตีแล้วไม่ร้องไห้ หรือตีแล้วไม่แสดงท่าว่าเจ็บ
คุณอาจต้องออกกำลังกาย ซ้อมกำลังแขนเพิ่มขึ้น

จำนวนครั้ง ควรตีครั้งเดียว
เพื่อประกันว่าคุณจะไม่อารมณ์หลุด
เพราะการตี อย่างไรก็เป็นการทำร้าย
จุดชนวนโทสะให้กำเริบ หรือบันดาลโทสะได้ง่าย

ท่าทีหลังตี ต้องดึงเข้ามากอดด้วยอารมณ์ทะนุถนอม
ถ้าสงสารลูกมาก อนุญาตให้ร้องไห้ตามลูกได้
กอดเขานานจนกว่าเขาจะหยุดร้อง
แต่ให้ดีที่สุด คือ ให้ลูกสัมผัสถึงความเข้มแข็ง มีใจปรานี
และปลอบลูกด้วยน้ำเสียงของผู้นำชีวิตเขา

หากองค์ประกอบในการทำโทษเด็กเป็นไปตามนี้
ให้สังเกตดูว่า เด็กจะแสดงความรักคุณมากขึ้นทันที
เพราะเขาจะรู้สึกกับคุณอีกแบบ มองคุณอีกอย่าง
จำว่าคุณเป็นคนปลุกจิตสำนึกฝ่ายดี ที่มีการห้ามใจขึ้นมา
ไม่ใช่ปล่อยให้เตลิดเข้ารกเข้าพงตามอารมณ์ดิบเหมือนใครๆ!

หมายเหตุสำคัญที่ควรเน้นย้ำ
ถ้าลูกไม่ดื้อรั้น ไม่ลามปาม
หัวอ่อน ว่าง่าย เชื่อฟังคำที่เป็นเหตุเป็นผล
ก็ไม่ต้องหาเรื่องตีนะครับ
เพราะแปลว่า เส้นทางลูกไม่เป็นภัยกับสังคมอยู่แล้ว

ส่วน ‘เด็กที่สมควรโดน’ นั้น
เท่าที่เห็นๆกัน มักเป็นพวกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง
มีฤทธิ์มาก ใครต่อใครพะเน้าพะนอเอาใจ
ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าบุญเก่าทำมาดี
มีสิทธิ์เป็นได้ทั้งนักสร้างสรรค์หรือนักทำลายล้าง
หากเขาถูกอัดฉีดไว้ดี ก็มีโอกาสเป็นคุณอนันต์
แต่หากเขาถูกปล่อยปละละเลย โอกาสคือเป็นโทษมหันต์แน่ๆ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น