วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565

จะเอาอะไร กับสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา

จะเอาอะไร กับสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา



โพชฌง คือองค์แห่งการตรัสรู้ธรรม
ผู้ที่ทำสมาธิแล้วเห็นจิตเกิดดับมากพอจนกระทั้งถึงจิตจะบรรลุธรรม จึงจะเป็นโพชฌง


โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ
สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่
กับกิจ จิตอยู่กับเรื่องธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์)
ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรมวิริยะ (
วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียรปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์)
ความอิ่มใจปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์)
ความสงบกายใจสมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่
น จิตแน่วในอารมณ์อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์)
ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง
โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 (
ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อัน
ได้แก่ สติปัฏฐาน4 สัมมัปปธาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ
5 โพชฌงค์7 และมรรคมีองค์ 8)

----------

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงโพธิปักขิยธรรมในหมวดอินทรีย์ ๕ สืบต่อจากอิทธิบาท ๔ และที่ได้แสดงมาแล้วก็คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ สามหมวด มาถึงหมวดที่สี่ คืออินทรีย์ ๕ อินทรีย์นั้นได้แก่ธรรมะที่เป็นใหญ่เหนือกิเลส หรืออธรรม อกุศลธรรมที่ตรงกันข้าม และธรรมะที่เป็นอินทรีย์นี้เป็นข้อที่กล่าวว่า ผู้นั้นผู้นี้มีอินทรีย์อ่อน มีอินทรีย์แก่กล้า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ฟัง ซึ่งมีอินทรีย์คือธรรมะที่เป็นใหญ่ดั่งนี้ ตามควรแก่อินทรีย์ของเขา เมื่ออินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงสอนให้ปฏิบัติทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้น และก็ทรงแสดงธรรมะโปรดไปโดยลำดับ แม้ผู้ที่เข้ามาบวชปฏิบัติเพื่อความพ้นกิเลสและกองทุกข์
พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมะโปรดให้พอเหมาะแก่อินทรีย์ของเขาเช่นเดียวกัน ถ้าอินทรีย์ยังอ่อน ก็ทรงแสดงธรรมะที่เป็นธรรมดาสามัญที่เข้าใจง่าย คือที่เขาอาจจะเข้าใจได้ หรืออาจจะปฏิบัติได้ และทรงแสดงขยับให้สูงขึ้นโดยลำดับ จนถึงอินทรีย์แก่กล้า จึงทรงแสดงธรรมะโปรด เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งเมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็สามารถได้ปัญญาเห็นธรรม ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเหตุตัดกิเลสและกองทุกข์ ตั้งแต่บางอย่างจนถึงได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น อินทรียนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมให้เป็นพื้นฐาน สำหรับที่จะได้รองรับธรรมะที่สูงขึ้นๆ
อินทรีย์ ๕ คือ ๑ สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ๒ วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะ ๓ สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติ ๔ สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือสมาธิ และ ๕ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอธิบายอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ไว้ทุกข้อ ทั้งที่เป็นอธิบายโดยทั่วไป และที่เป็นอธิบายอย่างสูงทุกข้อ ดังจะได้นำมาแสดงไปทีละข้อ
สัทธินทรีย์
สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา ข้อ ๑ ได้ตรัสแสดงไว้ว่า อริยะสาวก สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ว่า อิติปิโส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แม้ด้วยประการอย่างนี้ๆ อรหัง เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส ควรไหว้ควรบูชา สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองชอบ วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาคือความรู้ และสรณะคือความประพฤติ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้รู้โลก
อนุตโร ปุริสทัมสารถิ เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า สัตถา เทวมนุสานัง เป็นศาสดาคือครูแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้ตื่นด้วยความรู้ เป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายอย่างเต็มที่ ภควา เป็นผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน และเป็นผู้มีโชค
เมื่อมีศรัทธาเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ดังพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทที่แสดงมานี้ ตั้งมั่น เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อ คือมีความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ดั่งนี้ ตั้งมั่นไม่คลอนแคลน ก็ชื่อว่าสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา
องค์คุณให้บรรลุโสดาบัน
อีกอย่างหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้ถึงศรัทธา โดยยกเอา โสตาปัติยังคะ ทั้ง ๔ ได้แก่มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ มีศีลที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นท่อน ไม่เป็นช่อง ไม่ด่างไม่พร้อย อันเป็นอริยกันตศีล ศีลที่พระอริยเจ้าต้องการปรารถนา เป็นศีลที่เป็นไทไม่เป็นทาส เป็นศีลที่ไม่ถูกกิเลสลูบคลำ คือเป็นศีลที่บริสุทธิ์ เป็นศีลที่ถึงจิตใจ ใจเป็นศีลด้วย ไม่ใช่ว่าใจคิดจะละเมิด แต่ว่าไม่กล้าละเมิด ใจต้องไม่คิดที่จะละเมิดด้วย คือไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ ทั้ง ๔ นี้เรียกว่า โสตาปัตติยังคะ คือเป็นองค์คุณ องค์สมบัติ ที่จะให้บรรลุถึงกระแสธรรม เป็นโสดาบันบุคคลได้
วิริยินทรีย์
วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือวิริยะข้อ ๒ ตรัสอธิบายไว้ว่า
ปรารภคือเริ่มความเพียร เพื่อละอกุศลทั้งหลาย เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม มีกำลังประคองความเพียร ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย และได้ตรัสแสดงอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า มีความเพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔
สตินทรีย์ สมาธินทรีย์
สตินทรีย์ อินทรีย์คือสติข้อ ๓ ได้แก่เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกนึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่ง คือมีสติในสติปัฏฐานทั้ง ๔
สมาธินทรีย์ อินทรียคือสมาธิ ข้อ ๔ ตรัสอธิบายไว้ว่า เป็นผู้กระทำการสละละวางอารมณ์ คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง อันเป็นอารมณ์ ประกอบไปด้วยโลภโกรธหลง ก็กระทำการสละวางอารมณ์เหล่านั้น ได้สมาธิ ได้ความที่จิตเป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์ในกรรมฐานที่ตั้งไว้เป็นอันเดียว และได้ตรัสอธิบายไว้อีกประการหนึ่งว่า คือมีสมาธิที่แนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น บรรลุถึงรูปฌานทั้ง ๔
ปัญญินทรีย์
ปัญญินทรีย์ อินทรีย์คือปัญญา ข้อ ๕ ตรัสอธิบายไว้ว่าเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ทั่วถึงความเกิดความดับ ปัญญาที่ให้ถึง รู้เกิดดับ หรือว่าปัญญาคือรู้ทั่วถึงเกิดดับ อันเป็นอริยะคือที่ประเสริฐ อันเป็นปัญญาที่เจาะแทงกิเลส ที่ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยชอบ
อนึ่ง ได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่า ได้แก่มีปัญญารู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือรู้จักทุกข์ รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์
รู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (เริ่ม ๑๕๒/๑) ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ทั้ง ๕ นี้ที่ได้อบรมจนถึงเป็นใหญ่ คือศรัทธาก็เป็นใหญ่เหนือ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อดังที่ได้กล่าวแล้ว วิริยะก็เป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้านไม่พากเพียรปฏิบัติ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อวิริยะ สติก็เป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ สมาธิก็เป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่านเป็นต้น หรือจะเรียกว่าเหนือนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ได้ เหนือกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม พยาบาทความโกรธ จนถึงหมายล้างผลาญทำลาย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยลังเลใจไม่แน่นอน
สมาธิอบรมให้เป็นใหญ่เหนือนิวรณ์เหล่านี้ ดังที่ตรัสไว้ว่าสงบสงัดจากกาม จากอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตได้สมาธิได้เอกัคคตาคือความที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว และปัญญาก็อบรมจนถึงได้ปัญญาคือความรู้ที่เหนือความรู้ผิด หลงถือเอาผิดต่างๆ เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะคือความจริง จนถึงขั้นที่เห็นเกิดดับ อย่างสูงก็ที่เป็นถึงเป็นอริยะ ที่เจาะแทงอวิชชาความไม่รู้ หรือความรู้ผิด ความหลงถือเอาผิดต่างๆ ได้ ทำให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ ปัญญาดั่งนี้จึงเป็นปัญญินทรีย์ สมาธิดังที่กล่าวนั้นจึงเป็นสมาธินทรีย์ สติที่กล่าวนั้นจึงเป็นสตินทรีย์ ความเพียรที่กล่าวนั้นจึงเป็นวิริยินทรีย์ ศรัทธาที่กล่าวนั้นจึงเป็นสัทธินทรีย์
การอบรมปฏิบัติให้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ และมีปัญญา ดั่งที่กล่าวมา เป็นข้อที่พึงปฏิบัติอบรมไปโดยลำดับ ให้เข้าทางของศรัทธาเป็นต้น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ และเมื่อปฏิบัติให้เข้าทางดั่งนี้อยู่เรื่อยๆ แล้ว ทั้ง ๕ ข้อนี้ก็จะมีความเป็นใหญ่เหนือกิเลสอกุศลธรรมที่ตรงกันข้ามได้ไปโดยลำดับ ดั่งนี้แหละคืออินทรีย์อันเป็นข้อสำคัญ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะพึงปฏิบัติ ในธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ ให้เป็นใหญ่เหนือกิเลสในจิตใจของตน
ต่อไปนี้ก็นั่งทำความสงบสืบต่อไป
-----------
จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นพึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ แห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ อันประกอบด้วยธรรมะหลายหมวด
ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน
เริ่มต้นด้วยหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ได้แสดงมาโดยลำดับโดยสังเขป สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นหมวดหลักแห่งการปฏิบัติอบรมจิตใจ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางสมาธิ และทางปัญญา
อันประกอบด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติตามดูกาย พิจารณากาย
ซึ่งตรัสจำแนกไว้ในมหาสติปัฏฐาน เริ่มตั้งแต่หมวดกำหนดลมหายใจเข้าออก อันเรียกว่าอานาปานสติ กำหนดดูอิริยาบถทั้ง ๔ อันเรียกว่าหมวดอิริยาบถ ตั้งสติกำหนดดูอิริยาบถที่จำแนกออกให้ละเอียดออกไปอีก อันเรียกว่าสัมปชัญญะปัพพะ หมวดสัมปชัญญะความรู้ตัว ตั้งสติกำหนดดูกายว่าเป็นของไม่สะอาด ตั้งสติกำหนดดูธาตุ จำแนกออกไปเป็นธาตุ ๔ ตามกำหนดดูป่าช้าทั้ง ๙
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูเวทนา สุขทุกข์เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่มีอามิส คืออิงกิเลสอิงวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด ทั้งที่เป็นนิรามิส คือไม่มีทั้งกิเลสและทั้งวัตถุเป็นเครื่องนำให้เกิด ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดูจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ ที่หดหู่หรือฟุ้งซ่าน ที่จิตเป็นสมาธิคือกว้างขวาง หรือที่ไม่กว้างขวาง จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า หรือที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า จิตที่มีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ จิตที่วิมุติหลุดพ้นหรือไม่วิมุติหลุดพ้น
ต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะคือเรื่องในจิต ตั้งต้นแต่หมวดนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้กำหนดดูให้รู้ว่ามีอยู่ก็รู้มีอยู่ ไม่มีก็รู้ไม่มี เกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ดับคือละไปได้ไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็รู้ประการนั้น
ตรัสสอนให้กำหนดดูขันธ์ ๕ ว่าแต่ละข้อเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ตรัสสอนให้กำหนดดูอายตนะภายในภายนอกทั้ง ๖ ที่คู่กัน ตรัสสอนให้กำหนดดูสังโญชน์คือความที่ใจผูกยินดียินร้ายอยู่ในอารมณ์
คือเรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องที่ใจคิดใจรู้ ในเมื่ออายตนะภายในภายนอกนี้ประจวบกัน และให้รู้ว่าสังโญชน์มีก็ให้รู้ว่ามี ไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี สังโญชน์จะเกิดขึ้นด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ละได้ดับไปด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น ละหรือดับไปได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกด้วยประการใดก็ให้รู้ประการนั้น
โพธิปักขิยธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาถึงหมวดหลังนี้ ซึ่งในมหาสติปัฏฐานยังมีอีก ๒ หมวด คือหมวดโพชฌงค์ และหมวดมรรคมีองค์ ๘ แต่ว่า ๒ หมวดนี้ได้รวมอยู่ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้แล้ว เป็นหมวดสุดท้าย และรองสุดท้าย
เพราะว่าในโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมเอาหมวดธรรมต่างๆ ที่ได้ตรัสแสดงไว้มารวมเข้าเป็นหมวดใหญ่ ตรัสว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็น ๗ หมวด โพชฌงค์ไปเป็นหมวดที่ ๖ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหมวดที่ ๗ อันเป็นหมวดสุดท้าย เพราะฉะนั้น เมื่อได้อธิบายสติปัฏฐาน ๔ ตามหลักมหาสติปัฏฐาน มาถึงหมวดอายตนะแล้ว จึงเว้นโพชฌงค์และมรรคไว้ ต่อเป็นหมวดที่ ๖ ที่ ๗ ของโพธิปักขิยธรรม จึงแสดงหมวดที่ ๒ ของโพธิปักขิยธรรมคือสัมมัปปธานทั้ง ๔
สัมมัปปธาน ความเพียรที่พึงกระทำก่อน
สัมมัปปธาน แปลกันเพื่อเข้าใจง่ายว่าความเพียรชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ คือ
๑ สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลมิให้เกิดขึ้น
๒ ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓ ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔ อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมแต่ให้เจริญบริบูรณ์
อันคำว่า ปธานะ แปลกันง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ว่าเพียร สัมมัป คือสัมมา ก็แปลว่าชอบ คำว่าปธานะนี้ก็แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ข้างหน้า คือตั้งไว้ข้างหน้า อันหมายความว่าเป็นความเพียรที่พึงกระทำก่อน ไม่ใช่กระทำในภายหลัง และคำว่าปธานะนี้ก็มาใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นประธาน เช่นพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่เป็นหลักสำคัญในอุโบสถ หรือในโบสถ์ ก็เรียกว่าพระประธาน พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในหมู่สงฆ์ ก็เรียกว่าประทับอยู่เป็นประธานแห่งสงฆ์ บุคคลที่นั่งอยู่ข้างหน้าเป็นประธานของการประชุม ก็เรียกว่าประธานที่ประชุม ก็ตรงตามศัพท์ว่าดำรงอยู่ข้างหน้า หรือตั้งไว้ข้างหน้า
และความเพียรที่มาเรียกว่าปธานนี้ จึงมีความหมายว่า เป็นความเพียรที่พึงตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า พึงกระทำก่อน เพราะว่าทุกคนนั้นย่อมมีสิ่งที่พึงทำหลายอย่าง ผู้ที่มีธุระมาก ก็ต้องมีความเพียรที่จะต้องกระทำมาก แต่ในบรรดาธุระที่กระทำนั้น จะทำเรื่องใดเป็นที่ ๑ เรื่องใดเป็นที่ ๒ เรื่องใดเป็นที่ ๓ หรือว่าในเวลาใดในเวลาหนึ่ง จะพึงทำเรื่องใดในเวลานั้น และเมื่อได้กำหนดไว้ดั่งนี้ ถ้ากำหนดไว้ว่าเป็นเรื่องที่พึงทำที่ ๑ ที่ ๒ เรื่องที่พึงทำเป็นที่ ๑ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่เป็นประธาน ความเพียรที่พึงกระทำในเรื่องนั้นก็เรียกว่า ปธาน หรือว่าถ้ากำหนดเวลา ว่าในเวลาใดจะทำเรื่องใด ถึงเวลานั้นก็ทำเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็เป็นประธานของเรื่องทั้งหลายในเวลานั้น คือจะต้องทำในเวลานั้น และความเพียรที่กระทำก็เรียกว่า ปธาน

ดั่งเช่นในเวลานี้เป็นเวลาที่ท่านผู้มุ่งปฏิบัติธรรม กำหนดไว้ว่าจะมาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรม ในเวลานี้เรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องการฟังธรรมปฏิบัติธรรมจึงเป็นประธาน เรื่องอื่นก็งดไว้ก่อน และความเพียรที่พึงทำก็เรียกว่าเป็นประธาน
อุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน
และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้ ก็ต้องอาศัยความเพียรปฏิบัติ เป็นประธานในการปฏิบัติสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือมีสัมปชัญญะความรู้ตัว สติมา มีสติ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ กำจัดอภิชฌาความยินดี โทมนัสความยินร้ายในโลกเสีย อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน นี้ก็คือมี สัมมัปปธานะ ความเพียรชอบนั้นเอง ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ อย่างที่ได้จำแนกไว้ข้างต้น
กาย จิต
และการตั้งสติกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับในข้อที่เป็นกายเอง และเป็นเวทนาเอง ก็รวมอยู่ในขันธ์ ๕ กายก็เท่ากับรูป เวทนาก็เป็นเวทนา อันบุคคลผู้เกิดมาก็มีขันธ์ ๕ อันตั้งต้นด้วยรูปเวทนานี้เป็นภพเป็นชาติ เป็นที่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
ตัวรูปตัวเวทนาเองนั้นเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่พยากรณ์คือไม่กล่าวว่าเป็นดีหรือเป็นชั่ว เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ที่ทุกคนก็ได้มาตั้งแต่กำเนิด เป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ที่เป็นวิบาก
คือผลของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ฉะนั้น ตัวกายตัวเวทนาเองจึงไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นสิ่งกลางๆ
บารมี อาสวะ
และมาถึงจิต จิตนี้เองที่เป็นตัววิญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็เป็นธาตุอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ เป็นธรรมชาติธรรมดา เป็นสิ่งที่อาศัยกับกายนี้ ดั่งที่เรียกว่ากายจิต และจิตนี้เองที่เป็นที่บังเกิดขึ้น เป็นที่เก็บไว้แห่งกุศลธรรม และอกุศลธรรมทั้งหลาย แห่งบุญและบาปทั้งหลาย แห่งบารมีและอาสวะทั้งหลาย ถ้าเก็บดีก็เป็นบารมี เก็บชั่วก็เป็นอาสวะ
และสิ่งที่เก็บไว้นี้ที่เป็นส่วนละเอียด ก็เก็บไว้ในจิตส่วนลึก เหมือนอย่างตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ดูที่ปากตุ่ม น้ำข้างบนก็ใสสะอาด แต่ที่ก้นตุ่มนั้นยังมีตะกอน (เริ่ม ๑๕๐/๑) ถ้าเป็นส่วนดีก็เรียกว่าบารมี คือทำดีๆ ไว้ ก็เก็บไว้ๆ ทำชั่วก็เก็บไว้ๆ เป็นอาสวะ อาสวะแปลว่านอนจมหรือหมักหมม อันนับว่าเป็นความดีความชั่วอย่างละเอียด ดังที่เรียกว่าเป็นนิสัยเป็นอุปนิสัย มีนิสัยดีก็แสดงออกมาดี มีนิสัยไม่ดีก็แสดงออกมาไม่ดี นิสัยนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นที่อาศัยของทั้งฝ่ายดีทั้งฝ่ายชั่ว ที่แสดงออก
และเมื่อมีอารมณ์คือเรื่องเข้ามา ก็มากวนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่มนี้ให้ฟุ้งขึ้นมาปรากฏอยู่ในจิต เช่นว่ามีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะเป็นต้น และเมื่อสิ่งที่ฟุ้งขึ้นมาจนจิตรู้ได้ดังกล่าวแล้ว เมื่อแรงออกมาอีกก็เป็นอย่างหยาบ ก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรม
ถ้าเป็นส่วนดีที่เป็นบารมีปรากฏขึ้นมา ก็นำให้เกิดเจตนากรรมคือความจงใจ ทำทานบ้าง สมาทานศีลบ้าง เจริญภาวนาบ้าง ถ้าเป็นส่วนชั่วที่เป็นอาสวะปรากฏหยาบขึ้นมา ก็ก่อเจตนาคือความจงใจให้กระทำ กรรมที่เป็นอกุศลเป็นบาปทุจริตต่างๆ เช่นให้ฆ่าเขาบ้าง ให้ลักของเขาบ้าง เป็นต้น
ธรรมปฏิบัติเสริมสร้างบารมี
จิตนี้จึงเป็นธรรมชาติอันสำคัญซึ่งทุกคนมีอยู่ด้วยกัน และก็ประกอบด้วยส่วนดีและส่วนชั่วเป็นพื้นสันดาน ส่วนดีก็เป็นบารมี ส่วนก็เป็นอาสวะ และก็อาสวะนั้นก็เปรียบด้วยตะกอนนอนก้นตุ่ม ที่ฟุ้งขึ้นมาก็ทำให้จิตที่เคยใส ก็เป็นกลับกลายเป็นจิตขุ่น จนถึงกลับกลายเป็นจิตร้าย ในเมื่ออาสวะที่ฟุ้งขึ้นมาอันเป็นส่วนกิเลสนั้นแรงขึ้น จนถึงก่อกรรมที่ไม่ดีต่างๆ
อาสวะท่านเปรียบดั่งนั้น ส่วนบารมีนั้นไม่ได้เปรียบไว้ตะกอนนอนก้นตุ่ม เพราะเป็นฝ่ายดี แต่ก็มีนอนจมสั่งสมอยู่เป็นฝ่ายดี และก็เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็กระตุ้นเตือนให้บารมีนี้ปรากฏขึ้นมาได้ และเมื่อแรงขึ้นก็ให้ทำดี เพิ่มเติมความดีเข้าในจิต อาสวะที่เป็นส่วนชั่วเมื่อฟุ้งขึ้นมา ทำชั่วก็เพิ่มเติมอาสวะให้มากขึ้นในจิต แต่ว่าบารมีนั้นเป็นฝ่ายที่กำจัดอาสวะ เป็นฝ่ายที่ชำระล้างอาสวะในจิต เมื่อทำดีเป็นบารมีตั้งอยู่ใจจิต จิตเก็บดีเอาไว้ ก็ชำระอาสวะที่เป็นส่วนชั่ว คือที่เป็นตะกอนนี้ให้ลดน้อยลงไป บารมีก็มากขึ้นทุกที จนถึงเมื่อบำเพ็ญบารมีได้เต็มที่ คือทำดีได้เต็มที่แล้ว กำจัดตะกอนก้นตุ่มคืออาสวะให้หมดสิ้นไปได้ ก็เหลือแต่น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งแต่หน้าตุ่มลงไปจนถึงก้นตุ่มตลอดหมด
ดั่งนี้ก็เสร็จกิจอันเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ตลอดถึงกันหมด ทั้งส่วนตื้น ทั้งส่วนลึก
แต่ในขณะที่ยังมีอาสวะเป็นตะกอนก้นตุ่มอยู่ ก็ต้องทำความดี เพื่อชำระอาสวะ ที่เป็นตะกอนก้นตุ่มนี้ให้สิ้นไปโดยลำดับ ต้องเพิ่มเติมความดีอยู่เรื่อยๆ ไป การปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติความดีดังกล่าว
ธรรมะในจิต
และการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นตรัสสอนให้ตั้งสติ กำหนดดูกาย กำหนดดูเวทนา และกำหนดดูจิต และกำหนดดูธรรมะในจิตซึ่งเนื่องเป็นอันเดียวกัน และธรรมะในจิตนั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นกุศล ทั้งส่วนที่เป็นอกุศล ทั้งส่วนที่เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ
และธรรมะที่มีอยู่ในจิตนี้เองเป็นข้อสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติธรรม หรือไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเป็นนิวรณ์ เป็นสัญโญชน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ ไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอันดับแรก ก็เป็นอกุศลธรรมที่เป็นข้อสำคัญ ที่จะทำให้ไม่ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตและธรรมเอง เพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ แต่ว่าจะชักนำให้ปฏิบัติเป็นบาปเป็นอกุศลต่างๆ ให้ข้องติดอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสเอานิวรณ์ไว้ นี่เป็นข้อแรก
และนิวรณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นเอง ไม่ใช่ที่ไหน แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์นั้น ก็เกิดขึ้นโดยอาศัยทางเกิด คือทางอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ที่มาประจวบกัน เมื่อเป็นสัญโญชน์คือความผูกพันยินดียินร้ายขึ้น ก็นำให้ติดพันอยู่ในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ในกามในภพทั้งหลาย ถ้าหากว่าไม่เป็นสัญโญชน์คือผูกใจให้ยินดียินร้าย ก็นำให้ปฏิบัติเสาะแสวงหาพรหมจรรย์ คือความประพฤติอันประเสริฐ อันเรียกว่าปฏิบัติธรรม
ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสขันธ์ ๕ และตรัสหมวดอายตนะภายในภายนอกสืบต่อกันไป เพราะเหตุที่อันความบังเกิดขึ้นของนิวรณ์ หรือความดับไปของนิวรณ์นั้น ก็เกิดขึ้นที่ขันธ์ ๕ ดับไปที่ขันธ์ ๕ อันเริ่มด้วยกายเวทนา หรือรูปเวทนา และเมื่อมีรูปมีเวทนาแล้ว ก็มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ โดยที่ความประจวบกันของอายตนะดังกล่าวนั้น นำให้เกิดอารมณ์แก่จิตใจ อันเป็นธาตุรู้ที่สำคัญ และจิตใจนี้เองเป็นตัวที่ข้องติดอันเรียกว่าสัญโญชน์ ไม่ใช่อื่นคือจิตใจนี้เอง
ความสำคัญจึงอยู่ที่จิตใจ และสัญโญชน์ อันอาศัยอายตนะ และก็เกิดทางขันธ์ ๕ นั้นเอง ตัวขันธ์ ๕ นั้นเองนั้นเป็นวิบากขันธ์ซึ่งไม่ดีไม่ชั่วอะไร แต่เป็นกลางๆ แต่ว่าความบังเกิดขึ้นของทั้งดีทั้งชั่วนั้นก็ต้องอาศัยขันธ์ ๕ เหมือนอย่างเช่นว่ามือของเราทุกคนนี้ก็เป็นรูปขันธ์ เมื่อจิตประกอบด้วยกุศลธรรม ก็ใช้มือนี้เองทำบุญต่างๆ เช่นว่าใช้มือนี้ตักข้าวใส่บาตร ใช้มือนี้ทำกิจการที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือต่างๆ ตัวมือเองนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป แต่บุคคลผู้ทำก็ใช้มือทำบุญ บุคคลผู้ทำก็เป็นบุญ และบุคคลผู้ทำนั้นเมื่อพูดให้ลึกซึ้งเข้าไปก็คือจิตนี้เอง จิตเป็นบุญเมื่อใช้มือทำบุญ
แต่เมื่อจิตประกอบด้วยสัญโญชน์ อันเป็นเหตุทำให้จิตใจนี้ร้าย ก็ใช้มือนี้อีก ก็ใช้มือนี้เองทำร้าย เช่นว่าถือมีดถือไม้ประหัตประหารทำร้ายผู้อื่น ตัวมือเองที่ถือมีดถือไม้ทำร้ายนี้ก็ไม่เป็นบุญเป็นบาป แต่บุคคลผู้ที่ใช้มีดใช้มือนี้ประหัตประหารผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น นั่นเองเป็นบาป โดยตรงก็คือจิตนี่เองเป็นบาป
นิวรณ์เมื่อเกิดขึ้นรู้ได้ที่จิต
เมื่อเกิดขึ้นทุกคนก็รู้ ว่านิวรณ์ข้อนี้บังเกิดขึ้น กามฉันท์เกิดขึ้นก็รู้ พยาบาทเกิดขึ้นก็รู้ อีก ๓ ข้อเป็นตัวโมหะบังเกิดขึ้นก็รู้ บุคคลย่อมรู้ได้ที่จิตนี้เอง และอาการที่รู้นั้นก็อาศัยขันธ์ ๕ นี้เองเป็นทางรู้ และขันธ์ ๕ นั้นก็ต้องอาศัยอายตนะภายในภายนอกนี้เองเป็นทาง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าทวารทั้ง ๖ ประตูทั้ง ๖ ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ เปิดรับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย จิตก็รับเป็นอารมณ์คือเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง แล้วก็เกิดผูกพันขึ้นมาก็เป็นสัญโญชน์ ผูกพันยินดี ผูกพันยินร้าย ก็เป็นสัญโญชน์ เมื่อผูกขึ้นดั่งนี้แล้วจึงเป็นตัวนิวรณ์ คือเป็นกามฉันท์บ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นโมหะคือความหลง คืออีก ๓ ข้อข้างหลังนั้นบ้าง
เพราะฉะนั้นตัวผูกนี้จึงเป็นตัวสำคัญอันเรียกว่าสัญโญชน์ แต่จิตไม่ผูก จิตปล่อย เช่นเมื่อตากับรูปประจวบกัน ก็เป็นอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นจิตรู้ว่านี่รูป แล้วจิตก็ปล่อย ไม่ยินดียินร้ายในรูปนั้น ก็ไม่เป็นสัญโญชน์ เมื่อไม่เป็นสัญโญชน์ นิวรณ์ก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสแสดงหมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ ๕ แล้วก็หมวดอายตนะ เพื่อให้กำหนดรู้จัก เป็นตัวสติที่รู้จัก รู้จักแล้วก็ปฏิบัติในการที่จะดับสัญโญชน์ดับนิวรณ์ โดยอาศัยใช้สติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม ให้เห็นเกิดให้เห็นดับ ซึ่งจะต้องใช้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้ในการปฏิบัติ ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป..ไม่มีสวดหรือ?

-----------

โพชฌงค์ ๗
›››››

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด และได้แสดงมาแล้วโดยลำดับคือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ จึงมาถึงหมวดโพชฌงค์ ๗ และหมวดโพชฌงค์ ๗ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมไว้ ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ในหมวดธรรมานุปัสสนานี้ ทรงแสดงเริ่มด้วยนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ และจึงแสดงโพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗ นี้ทรงแสดงในหมวดธรรมานุปัสสนาดังกล่าว และก็ทรงแสดงในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้ด้วย ต่อจากพละ ๕ ในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวดเหล่านี้
สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งทรงแสดงไว้เป็นหมวดแรก เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นหลักยืนในเบื้องต้น และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัย สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และเมื่อสติปัฏฐานได้อาศัยธรรมะเหล่านี้ สติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนั้น ก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ ๗
ข้อปฏิบัติข้อแรกในกายานุปัสสนา
หากว่าจะแสดงแต่ชื่อของหมวดธรรม โดยไม่จำแนกออกไปโดยละเอียดทุกข้อ ก็กล่าวได้ว่าในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรมะในจิต ก็เป็นการปฏิบัติอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็น และทรงแสดงแนะนำไว้ จับเริ่มตั้งแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก (เริ่ม ๑๕๓/๑) อันเป็นข้อแรกในหมวดกายานุปัสสนา
ผู้ปฏิบัติเมื่อไม่ประสงค์จะจดจำหัวข้อธรรมะไว้ให้มาก เมื่อได้ฟังข้อที่ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็น้อมเข้ามากำหนดดูลมหายใจเข้าออกที่ตนเอง เพราะทุกคนต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกอยู่โดยปรกติ แต่มิได้ตั้งสติกำหนดให้รู้ เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ และเพื่อให้เกิดญาณปัญญา ความหยั่งรู้ซึ่งเป็นตัวปัญญา หรือปัญญาที่เป็นตัวความหยั่งรู้
ในการทำสติ และการทำญาณปัญญาดังกล่าว เมื่อปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอนก็ไม่ยาก คือไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านไปในที่อื่น ให้กำหนดเข้ามาดู กำหนดที่ลมหายใจของตนเอง ซึ่งเมื่อกำหนดก็ย่อมจะรู้ว่าเราหายใจเข้าออกอยู่ เราหายใจเข้าอยู่ เราหายใจออกอยู่ ย่อมจะรู้ที่ตนเอง และเมื่อกำหนดให้จิตตั้งรู้อยู่ดั่งนี้ ก็ย่อมจะรู้ว่าเมื่อหายใจเข้านั้น ลมก็มาสัมผัสกระทบที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือที่ปลายกระพุ้งจมูก เข้าไป ร่างกายก็ปรากฏว่าอุทรคือท้องพองขึ้น
ก็ทำความกำหนดเหมือนอย่างว่า ลมหายใจผ่านจากปลายจมูกเข้าไปสู่อุทรที่พองขึ้น และเมื่อออก อุทรคือท้องก็ยุบลงแล้วก็ผ่านออกมาถึงปลายจมูก ก็มากระทบปลายจมูก เป็นวิธีกำหนดที่พระอาจารย์ได้สอนไว้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงทางกายวิภาควิทยา ที่ว่าหายใจเข้าไปสู่ปอดและออกจากปอด เพราะว่าไม่สามารถจะกำหนดให้รู้ได้ สามารถจะกำหนดให้รู้ได้ที่ผัสสะคือการกระทบ คือจุดที่ปลายจมูกและที่อุทรที่พองหรือยุบ
และเมื่อทำความกำหนดดั่งนี้ ก็เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสมาธิเท่านั้น และก็สมมติเพิ่มเอาว่าผ่านอุระคือทรวงอกอันเป็นจุดกลาง อันจุดกลางนี้จะถือว่าเป็นปอดก็ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปนึกถึง ให้กำหนดอยู่ที่อาการที่ลมมากระทบ และที่มีอาการของร่างกายของอุทร คือท้องที่พองขึ้นหรือยุบลง ตั้งสติกำหนดลมหายใจที่เข้า สมมติว่าเป็น ๓ จุดดังกล่าว เมื่อเข้าก็เข้าที่จมูกแล้วไปสุดที่อุทร เมื่อออกก็ออกจากอุทรแล้วมาสุดที่ปลายจมูก ก็สมมติเอาเพียงเท่านั้นสำหรับเป็นที่ตั้งของสมาธิ ให้จิตรวมดั่งนี้
นิมิตของสมาธิ
และเมื่อรวมจิตได้ดั่งนี้แล้ว เวทนาก็จะปรากฏเป็นปีติเป็นสุข แต่ก่อนที่จะมีเป็นปีติเป็นสุข ทุกขเวทนาอาจจะปรากฏก่อนเมื่อเริ่มทำ คืออาการที่จิตใจเหมือนดังถูกบังคับให้มากำหนด เหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้มากำหนด อันทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นสุข เป็นทุกข์ เมื่อเพียรล่วงทุกข์อันนี้ได้แล้ว คือหมายความว่าไม่ยอมเลิก แต่ว่าคงเหมือนอย่างบังคับจิตฝืนจิตให้ทำต่อไป จนจิตเชื่องเข้า จิตรวมเข้า จะปรากฏนิมิตของสมาธิเช่นว่าแสงสว่าง และเมื่อเริ่มได้สมาธิ ก็จะเริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ อันนำให้จิตที่ไม่ชอบนั้นกลับชอบขึ้นมา ก็ตั้งอยู่ได้
ความเพียร
เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยปธานะคือความเพียร ที่ตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า ไม่ยอมที่จะสละความเพียร ต้องอาศัยอิทธิบาทพยุงความเพียร ต้องอาศัยอินทรีย์คือความเป็นใหญ่ คือให้จิตที่มุ่งทำความเพียรนี้เป็นใหญ่กว่าความเกียจคร้านเป็นต้น โดยที่มีศรัทธาคือความเชื่อตั้งมั่น ว่าการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลดีจริง และก็ต้องมีพลังคือกำลังใจในการปฏิบัติ เป็นอันว่าต้องมีสัมมัปปธาน ต้องมีอิทธิบาท ต้องมีอินทรีย์ มีพละในการปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ที่จิตหรือใจนี้เอง คือใจต้องตั้งความเพียรไว้เบื้องหน้าให้มั่นคง ใจต้องมีอิทธิบาทคือต้องพอใจในการปฏิบัติเป็นต้น ใจต้องเป็นใหญ่เหนือกิเลส ใจต้องมีพละคือกำลังในอันที่จะต่อสู้กับกิเลส และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วอานาปานสติก็จะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานขึ้นมา
และเมื่อตั้งปฏิบัติเพียงข้อนี้เพียงข้อเดียว ก็จะรู้เวทนา รู้จิตของตน รู้ธรรมะในจิตของตน ไปพร้อมกัน เพราะกายเวทนาจิตธรรมนี้รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน เหมือนอย่างเก้าอี้หนึ่งตัวมีขาสี่ขา ทั้งสี่ขานี้ก็รวมเป็นเก้าอี้ตัวเดียวกัน กายเวทนาจิตธรรมนี้ก็เนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นสติที่กำหนดรู้ เป็นญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ลมหายใจเข้าออกก็จะปรากฏแก่ความรู้ที่เป็นตัวสติและปัญญานี้ เวทนาจิตธรรมที่รวมอยู่ก็จะปรากฏขึ้น
อันอาจที่จะรู้ได้พร้อมกันว่า นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม หรือว่านี่ลมหายใจ นี่เวทนาเป็นสุข นี่จิต และนี่ธรรมะคือเรื่องในจิต ก็ได้แก่ลมหายใจนั้นเองที่เป็นเรื่องในจิต และสติกับญาณปัญญานั้นก็เป็นเรื่องในจิตไปพร้อมกัน
โพชฌงค์
เพราะฉะนั้น จึงมาถึงสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งคำว่าโพชฌงค์นั้น แปลว่าธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เป็นพระพุทธาธิบายที่เมื่อภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามว่า ที่เรียกว่าโพชฌงค์นั้นคืออะไร ก็ตรัสตอบว่าคือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะฉะนั้นสติที่เป็นโพชฌงค์นี้ ก็เป็นสติที่กำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรม รวมเข้าเป็นก้อนเดียวกัน และเป็นความกำหนดรู้ที่รู้อยู่ในภายใน ภายในจิต ความกำหนดรู้ ที่กำหนดรู้อยู่ภายในจิตนี้ ก็คือเป็นตัวธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะเรื่องราว ไม่ใช่รูป
ลมหายใจเข้าออกที่เป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิตใจนี้ จึงไม่ใช่ลมหายใจเข้าออกที่เป็นรูป คือที่มากระทบปลายจมูก หรือที่ทำให้ร่างกายแสดงอาการหายใจ เช่นท้องพองท้องยุบ เป็นลมหายใจที่กำหนดรู้อยู่ในจิต เป็นตัวธรรมารมณ์อยู่ในจิต ซึ่งมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่ที่อื่น
สติที่กำหนดรู้นี้ เมื่อเป็นตัวรู้ที่เป็นสติกำหนดอยู่ภายในจิต ทุกอย่างเป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิต เป็นตัวรู้ในกายคือลมหายใจเข้าออกเอง ในเวทนาเอง ในตัวจิตเอง และธรรมะคือเรื่องของจิตเอง กายเวทนาจิตธรรมที่เป็นอารมณ์เมื่อเริ่มปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ สติและญาณปัญญานั้นเป็นตัวรู้ เป็นตัวรู้อยู่ในภายใน
เมื่อเป็นตัวรู้ที่รวมเข้ามาทั้งหมดดั่งนี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ดังกล่าว เป็นตัวสติที่ประกอบด้วยปัญญา คือญาณปัญญา รู้รวบยอดเข้ามาทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน เหมือนอย่างคนที่ยืนมองเก้าอี้ที่มีสี่ขา เห็นพร้อมกันทั้ง ๔ ขา
และเก้าอี้ที่เป็นสี่ขานั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกตามอง ตาซึ่งเป็นผู้มอง ก็มองเห็นทั้ง ๔ ขา ซึ่งทีแรกนั้นก็แยกมองทีละขาทีละขา แล้วก็มารวมเห็นทั้งสี่ขาคราวเดียวกันทั้งหมด เป็นสติสัมโพชฌงค์
และเมื่อสติรวมเข้ามารู้ดั่งนี้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาแทรกแซง อันทำให้สติหวั่นไหว ไม่อาจจะกำหนดรู้รวมอยู่ได้ ก็พึงบังเกิดขึ้นได้ เพราะว่าในจิตนี้มีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักดองอยู่ อันเป็นอย่างละเอียด ที่เปรียบเหมือนเป็นตะกอนก้นตุ่ม เทียบกับอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แล้วเปรียบเหมือนสิ่งที่ระคนอยู่ในจิตอย่างละเอียด เหมือนอย่างเครื่องทำให้เมา ที่ระคนอยู่ในน้ำเมา ดูน้ำเมาก็เป็นน้ำใสๆ แต่ว่ามีเครื่องทำให้เมาระคนอยู่ หรือเปรียบเหมือนว่าน้ำที่เป็นสีแดงสีเขียว ก็มีตัวสีที่แดงหรือเขียวปนอยู่ แม้น้ำจะใส น้ำก็ยังเป็นสีแดงสีเขียวนั่นเอง หรือว่าแม้น้ำจะใส เหมือนอย่างน้ำขาวๆ หรือน้ำที่บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นน้ำเมาอยู่นั่นเองเมื่อมีความเมาปนอยู่ สิ่งที่ปนอยู่อย่างละเอียดดั่งนี้คือตัวอาสวะที่แปลว่าดองจิต
และยังมีอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ที่รับอารมณ์ต่างๆ อารมณ์คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย และเมื่ออายตนะที่เป็นภายในมาประจวบกับอายตนะที่เป็นภายนอก ก็มาทำจิตให้ตกจากสติที่ตั้งไว้นั้นได้ ทำให้ฟุ้งซ่านออกไปได้ ทำให้เกิดความยินดีความยินร้ายได้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติกำหนดดูให้รู้จัก ความที่เป็นสติที่รวมเข้ามาได้ กับความที่สติต้องสลายตัว ให้รู้จักอาการที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันของตัวเอง ดั่งนี้ต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ข้อที่ ๒ คือธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันเนื่องมาจากสติเสนอ อาการต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในจิตอันประกอบด้วยสติ สติก็ย่อมกำหนดรู้ได้ เมื่อรู้ได้ก็เสนอปัญญาในจิตนี้เองพิจารณา
เลือกเฟ้นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เอง เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็คือให้รู้จักว่านี่กุศล นี่อกุศล นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่ละเอียด นี่หยาบ นี่มีส่วนเปรียบด้วยดำและขาว วิจัยและเลือกเฟ้นจิตของตนเองให้รู้จัก ก็ต้องอาศัยสติเสนอสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตเพื่อวิจัยด้วย และสติก็ระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ในวิธีที่จะวิจัย ทั้งในด้านกุศล ทั้งในด้านอกุศล (เริ่ม ๑๕๓/๒) เป็นต้น
คือในด้านที่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ละเอียด และเทียบกับธรรมะที่ขาวนั้น คือที่ความที่ได้อาศัยปธานะคือความเพียร อิทธิบาท อินทรีย์ พละ ตั้งสติกำหนดไว้ในกายเวทนาจิตธรรม ดั่งที่ตั้งเอาข้อลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ต้องๆ อาศัยธรรมะเหล่านี้มาประคับประคอง และก็ได้ปฏิบัติธรรมะเหล่านี้มาประคับประคองเป็นตัวสติที่ตั้งมั่นกำหนด กายเวทนาจิตธรรมรวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน เหมือนอย่างมองดูเก้าอี้สี่ขา เห็นทั้งสี่ขาพร้อมกัน
และในบางคราวก็มีอารมณ์อื่นมาดึง ให้หันไปมองทางโน้นทางนี้ ทิ้งสติที่มองเก้าอี้สี่ขาในบางคราว ก็ต้องกำหนดให้รู้จักว่า เมื่อมีสติอาศัยปธานะเป็นต้น กำหนดดูตามเห็นกายเวทนาจิตธรรมเป็นไปอยู่ เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่ได้ดั่งนี้ก็เป็นกุศล ไม่มีโทษ ประณีต และเหมือนอย่างธรรมขาว แต่เมื่อถูกอาสวะอนุสัย ที่อาศัยอารมณ์มากระทบกับอายตนะ คือทวารทั้ง ๖ ทำให้ใจกระเพื่อม จิตไม่อยู่นิ่ง ก็หลุกหลิกไปในรูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น ที่เข้ามากระทบนั้น ก็ทิ้งเก้าอี้สี่ขานั้น สติก็กำหนดให้วิจัยว่านั่นเป็นอกุศล มีโทษ หยาบ และเทียบกับธรรมะที่ดำ
สัญโญชน์
และอะไรที่มาทำให้เกิดธรรมะที่เป็นอกุศลมีโทษ ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ในหมวดอายตนะ ว่าอาศัยตากับรูป ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูก ก็ใช้ปัญญาวิจัยว่าความผูกนี้เอง เป็นตัวเหตุซึ่งมากระทบจิต ทำจิตให้วอกแวกไม่สงบ ความผูกที่เป็นตัวสัญโญชน์ในเมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไรเสียงอะไรเป็นต้น และความผูกนี้ ก็คือผูกเอาสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้นนั้นมาเป็นอารมณ์อยู่ในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้อารมณ์ของสมาธิ คือสติปัฏฐานนั้นก็สลายตัวไป อารมณ์รูปอารมณ์เสียงก็มาแทน
และสัญโญชน์คือตัวความผูกนี้ไม่ใช่มีความหมายว่าผูกไว้เฉยๆ ท่านจึงมีอธิบายไว้ด้วยว่าได้แก่ ฉันทราคะ คือความพอ ความติด ด้วยอำนาจความพอใจ คือความยินดี ความรัก ความชอบ ถ้าอารมณ์คือรูปที่ผูกไว้นั้นเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดี แต่ถ้าอารมณ์ที่ผูกนั้นเป็นที่ตั้งของความยินร้ายไม่ชอบ ก็ให้เกิดความกระทบกระทั่ง ความโกรธแค้นขัดเคืองความพยาบาท ซึ่งเป็นความยินร้าย และถ้าอารมณ์ที่จิตผูกนั้นเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้ยินดี ไม่พอจะให้ยินร้าย ก็เป็นที่ตั้งของความหลง คือไม่สนใจที่จะมากำหนดดูแต่ว่าสยบติดอยู่ จึงไม่รู้จักโทษ
นิวรณ์
เพราะฉะนั้นเมื่อความผูก มาเป็นผูกใจยินดี ผูกใจยินร้าย ผูกใจให้หลงติด สัญโญชน์คือตัวความผูกดั่งนี้ก็ปรากฏเป็นนิวรณ์ขึ้นมา ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง เป็นกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย หรือด้วยอำนาจกาม พยาบาท เป็นอันว่านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็มาทำลายสติในสติปัฏฐาน อารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้มาตั้งอยู่แทน ก็บังเกิดเป็นความฟุ้งซ่านไม่สงบ ทำให้จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย
เพราะฉะนั้นก็ต้องมีวิจัย คือให้รู้จักว่าอันนี้แหละเป็นตัวอันตรายของสติ
ผู้ปฏิบัติจะต้องทำสติสกัดกั้นความผูกใจ ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น เพราะถ้าหากว่าสกัดกั้นความผูกใจไม่ได้ก็เกิดนิวรณ์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์ ก็อาศัยกรรมฐาน ก็รวมอยู่ในหมวดกายเวทนาจิตธรรมนี้เองมาปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์ ที่เคยเห็นเก้าอี้ทั้งสี่ขาก็เป็นอันว่า ต้องมาดูเป็นขาๆ ไปอีก เพื่อระงับนิวรณ์ ขาไหนจะระงับนิวรณ์ข้อไหน ก็ใช้ขานั้น และเมื่อระงับนิวรณ์ได้ ก็หมายความว่าระงับความผูกได้ จึงจะมาเห็นเก้าอี้รวมกันทั้งสี่ขาใหม่ และจิตที่ตุกติกดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายก็จะกลับสงบ รวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ความที่วิจัยธรรมะให้รู้จักธรรมะในจิตของตัวเองดั่งนี้ จึงเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๒ และการที่เมื่อวิจัยรู้แล้วก็ต้องปฏิบัติ อาศัยวิริยะคือความเพียรเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๓ คือเพียรละธรรมะที่เป็นอกุศล ที่เป็นโทษ ที่หยาบ หรือที่เปรียบเหมือนอย่างธรรมะที่ดำนั้น เป็นปหานะ ละ ภาวนาคืออบรมธรรมะที่เป็นกุศล ที่ไม่มีโทษ ที่ประณีต และที่เปรียบเหมือนอย่างสีขาว คือสติและญาณปัญญาที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นเอง ให้มาครอบครองจิต ให้เป็นใหญ่อยู่ในจิต ให้เป็นพละเป็นกำลังอยู่ในจิต
สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ
เมื่อปฏิบัติดั่งนี้จิตก็จะเริ่มได้สมาธิ มีวิตกคือความตรึกได้แก่นำจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ มีวิจารตรองก็คือว่าประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ และก็จะปรากฏนิมิตของสมาธิบางอย่าง เช่นแสงสว่างเป็นต้น และจะได้ปีติได้สุขนี้ ซึ่งทำให้จิตนี้ติดได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องกำหนดรู้ ต้องมีสติ มีธรรมวิจัย มีวิริยะ ควบคู่กันไปทิ้งไม่ได้
แต่ว่า เมื่อไม่ให้ปีติสุขมาเป็นอุปกิเลสของสมาธิของปัญญา ก็จะได้ปัสสัทธิอาศัยปีติสุขนั้นเอง คือความสงบกายสงบจิตเป็นสุข สุขนี้เองก็เป็นที่ตั้งของสมาธิ จะทำให้สมาธิมั่นคงขึ้น และทำให้ได้อุเบกขาคือความที่เข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายใน ไม่ตุกติกออกไปในภายนอก สงบอยู่ในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นโพชฌงค์ ๗ ที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

-----------

อิทธิบาท ๔
›››››

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ได้ทรงเป็นพระภควาที่เราแปลทับศัพท์มาเป็นไทยว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีความหมายประการหนึ่งว่าผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน ดังที่ได้ทรงจำแนกธรรมะออกเป็นหมวดธรรมต่างๆ และที่ตรัสรวมเข้าเป็นหมวดโพธิปักขิยธรรม ซึ่งกำลังแสดงอยู่นี้ ได้แสดงมาแล้วในหมวดที่ ๑ คือสติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ คือ สัมมัปปธาน ๔ วันนี้จะแสดงหมวดที่ ๓ คือ อิทธิบาท ๔
คำว่า อิทธิบาท นั้น อิทธิเราแปลกันเป็นไทยอย่างหนึ่งว่าฤทธิ์ ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธศาสนาเช่น อภิญญา ๖ (เริ่ม ๑๕๑/๑) วิชชา ๘ ซึ่งมีข้อ อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะ คือเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางมีฤทธิ์มาก
ทางแห่งความสำเร็จ
อีกอย่างหนึ่งคำว่า อิทธิ แปลว่าความสำเร็จ ความสำเร็จแห่งการปฏิบัติ ขั้นหนึ่งๆ ก็เป็นอิทธิอย่างหนึ่ง จนถึงเป็นความสำเร็จอย่างสูง คือสำเร็จความรู้ธรรมเห็นธรรม อันเป็นภูมิอริยชน จนถึงความตรัสรู้อันเป็นความรู้สูงสุดในพุทธศาสนา ก็เป็นอิทธิคือความสำเร็จ คำว่า บาท นั้นแปลตามศัพท์ว่า เหตุที่ให้บรรลุถึง เหตุที่ให้ถึง อันได้แก่ปฏิปทาคือทางปฏิบัติ หรือมรรคคือทาง บาท แห่งอิทธิ ก็คือเหตุที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ หรือบรรลุถึงฤทธิ์ ทางปฏิบัติมรรคาคือทางแห่งฤทธิ์ หรือแห่งความสำเร็จ
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอิทธิบาทไว้ ๔ ประการ คืออิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีฉันทะคือความพอใจยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิริยะคือความเพียรยังให้บังเกิดขึ้น ข้อ ๑ อิทธิบาท อันประกอบด้วยความเพียรด้วยสมาธิที่มีจิตตะความเอาใจใส่ยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑ อิทธิบาทอันประกอบด้วย ความประกอบความเพียรด้วยสมาธิ ที่มีวิมังสาความใคร่ครวญไตร่ตรองยังให้บังเกิดขึ้นข้อ ๑ เป็นอิทธิบาท ๔ ประการ
เพราะฉะนั้น อิทธิบาททั้ง ๔ ที่มาพูดย่อๆ ว่า ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความเอาใจใส่ วิมังสา ความไตร่ตรองพิจารณา จึงเป็นการกล่าวอย่างย่อๆ
ปธานะสังขาระ
แต่เมื่อกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง ก็เป็นไปดั่งที่ได้ยกมาแสดงในเบื้องต้นนั้น คืออิทธิบาทนั้นมิใช่มีความสั้นๆ เพียง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แต่ว่าจะเป็นอิทธิบาทได้ต้องประกอบด้วย ความประกอบความเพียร มาจากคำบาลีว่า ปธานะสังขาระ หรือ ปธานสังขาร

คำว่า ปธานะ ก็คือสัมมัปปธาน ๔ อันเป็นหมวดที่ ๒ นั้น สังขาระ คือสังขาร ก็ได้แก่สังขารคือความปรุงแต่ง ในที่นี้ใช้แปลว่าความประกอบ เพราะความประกอบนั้นก็คือปรุงแต่งนั้นเอง อย่างเช่น ประกอบไม้ให้เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ เป็นบ้านเป็นเรือน ก็คือเอาของหลายๆ อย่างมาประกอบกันเข้า ก็มีความหมายตรงกับคำว่าความปรุงแต่ง ซึ่งมีความหมายว่าต้องมีหลายอย่างมาประกอบกันเข้า อย่างปรุงอาหารก็ต้องมีของหลายอย่าง มาต้มมาแกงปรุงเป็นอาหารขึ้น เพราะฉะนั้น คำว่าความประกอบหรือความปรุงแต่ง จึงมีความหมายเป็นอันเดียวกัน และออกมาจากคำเดียวกันว่า สังขาร หรือ สังขาระ ความปรุงแต่งหรือความประกอบ ปธานสังขาร ก็คือประกอบความเพียร อันได้แก่สัมมัปปธาน ๔ ที่แสดงแล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่าอิทธิบาทนั้นจึงรวมสัมมัปปธาน ๔ เข้ามาด้วย แต่ว่ามีขยายความออกไปว่า ความประกอบปธานะคือความเพียรนั้น ประกอบด้วยสมาธิที่มี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยังให้บังเกิดขึ้น ก็คือธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้ อันได้แก่ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ยังให้เกิดสมาธิขึ้น คือความตั้งใจมั่น ไม่กลับกลอกคลอนแคลน
สมาธิคือความตั้งใจมั่นนี้ที่ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนั้นให้บังเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา จึงเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ อันจะนำให้เกิดสมาธิความตั้งใจมั่นเพื่อประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง๔ นั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะเป็นปฏิปทาความปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ เป็นมรรคคือมรรคา คือทางแห่งอิทธิความสำเร็จ หรือแห่งฤทธิ์ทั้งหลาย
อิทธิบาทเป็นเหตุให้สัมมัปปธานสำเร็จได้
ในหมวดสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็ได้มีเริ่มตรัสท้าวมาถึงอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ด้วยแล้ว คือดังที่ตรัสไว้ว่า ยังฉันทะคือความพอใจให้เกิดขึ้น พยายามเริ่มความเพียร ประคองจิตตั้งความเพียรขึ้นมา ในการระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ในการละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ในการยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ในการรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว และปฏิบัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์
เพราะฉะนั้น ครั้นตรัสสัมมัปปธาน ๔ และมีท้าวมาถึงอิทธิบาท อันเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นด้วยแล้ว จึงมาตรัสถึงหมวดอิทธิบาท ๔ นี้ และก็ได้ตรัสว่าประกอบด้วย ความประกอบปธานะทั้ง ๔ นั้น ที่ตรัสว่า ปธานะสังขาระ ความประกอบความเพียร ด้วยสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาให้บังเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงความให้เนื่องกันแล้วจึงกล่าวได้ว่า อิทธิบาทดังที่ตรัสไว้นี้เองเป็นเหตุให้ประกอบปธานะ คือสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นสำเร็จขึ้นได้ และความต้องการของอิทธิบาทในที่นี้ก็คือว่า เป็นเหตุให้ประกอบความเพียร อันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้นได้สำเร็จ
โดยอาศัยฉันทะสมาธิ วิริยะสมาธิ จิตตะสมาธิ วิมังสาสมาธิ คือสมาธิที่มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสายังให้บังเกิดขึ้น
สมาธิในสัมมัปปธาน
และเมื่อกล่าวจำเพาะสมาธิก็กล่าวได้ว่า ในการประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ นั้น จะต้องมีสมาธิ คือความตั้งใจมั่นเพื่อที่จะประกอบความเพียร เพื่อประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ ข้อนั้น ถ้าขาดสมาธิเสียแล้วความประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธาน ๔ นั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตใจนี้ไม่ตั้งเพื่อที่จะทำให้สัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น คือจิตนี้ไม่ตั้งมั่นในอันที่จะระมัดระวัง อันเรียกว่า สังวรปธาน ในอันที่จะละ อันเรียกว่า ปหานปธาน ในอันที่จะปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้น อันเรียกว่า ภาวนาปธาน ในอันที่จะรักษากุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นไว้ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ จึงต้องมีสมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร สมาธิในที่นี้จึงมีความหมายว่าความตั้งจิตมั่นที่จะประกอบความเพียรทั้ง ๔ ข้อนั้น ไม่เปลี่ยนจิตเป็นอย่างอื่น
เพราะฉะนั้น จึงไม่หมายถึงการที่มานั่งปฏิบัติ ภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่เรียกว่าทำสมาธิกันทั่วๆ ไป แต่หมายเอาถึงความที่ตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียร เมื่อมีความตั้งจิตมั่นดั่งนี้แล้ว การประกอบความเพียรอันเป็นสัมมัปปธานทั้ง ๔ ซึ่งตรัสเรียกในหมวดอิทธิบาทนี้ว่า ปธานสังขาร ปรุงแต่งความเพียร หรือประกอบความเพียร จึงจะบังเกิดขึ้นได้ แต่ว่าสมาธินั้นก็จำต้องอาศัยความมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาทั้ง ๔ ข้อนี้
มาทำให้บังเกิดเป็นสมาธิขึ้น ถ้าขาดทั้ง ๔ ข้อนี้ สมาธิคือความตั้งจิตมั่นในอันที่จะประกอบความเพียรก็ไม่บังเกิด
ความเนื่องกันของธรรมปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้จึงมีความสำคัญ อันจะเป็นอุปการะแก่ความประกอบความเพียรทั้ง ๔ หากว่าจะกล่าวให้เนื่องกันมาจากสติปัฏฐาน ก็กล่าวได้ว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นเป็นข้อธรรมที่เป็นที่ตั้งของความปฏิบัติตั้งสติ เป็นหลักในการปฏิบัติธรรมทางจิต หรือว่าจิตภาวนา เป็นข้อปฏิบัติทางจิตภาวนาที่เป็นตัวหลัก หลักสำคัญ แต่ว่าจะต้องอาศัยอุปการะธรรมคือสัมมัปปธาน ๔ มาเป็นเครื่องอุปการะ ให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้บังเกิดขึ้น เป็นไป และก้าวหน้า จนกระทั่งสำเร็จเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ขึ้นได้
และสัมมัปปธานทั้ง ๔ นี้เล่า ก็ต้องมีอิทธิบาททั้ง ๔ นี้เป็นอุปการะ ถ้าขาดสัมมัปปธาน ๔ สติปัฏฐานก็มีไม่ได้ จึงต้องมีสัมมัปปธาน ๔ ช่วย ถ้าขาดอิทธิบาททั้ง ๔ สัมมัปปธานทั้ง ๔ ก็มีไม่ได้ จะต้องมีอิทธิบาท ๔ ช่วย คือจะต้องมีฉันทะคือความพอใจในความประกอบความเพียร รักที่จะประกอบความเพียร ไม่เกลียดความประกอบความเพียร ไม่รังเกียจความประกอบความเพียร ไม่เฉยๆ ต่อความประกอบความเพียร ต้องมีความพอใจความรักที่จะประกอบความเพียร ข้อ ๑
ต้องมีวิริยะคือความเพียร คือความกล้าที่จะประกอบความเพียร วิริยะนั้นแปลว่าความกล้า และวิริยะคือความกล้านี้ก็ตรงกันข้ามกับความไม่กล้า คือความย่อหย่อน อันหมายถึงความเกียจคร้าน จะต้องมีความไม่เกียจคร้าน
ความขยันลุกขึ้นประกอบความเพียร ก็คือมีจิตใจที่กล้าที่แข็ง ในอันที่จะประกอบกระทำความเพียรนั้นเอง ข้อ ๑
ต้องมีจิตตะคือมีจิต จิตที่ตั้งคือเอาใจใส่ดูแล จิตใจไม่ทอดทิ้งแต่จิตใจตั้งดูแล ถ้าขาดจิตใจตั้งดูแล จิตใจทอดทิ้งแล้ว ก็เกิดความประกอบความเพียรขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นได้ก็ย่อหย่อน เพราะเมื่อไม่มีจิตเข้าประกอบก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีจิตเข้าประกอบ จิตต้องตั้งมั่น แน่วแน่ และดูแล ข้อ ๑
ต้องมีวิมังสาคือจิตที่ตั้งมั่นนั้นจะต้องดูแล ก็คือต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา (เริ่ม ๑๕๑/๒) ให้รู้จักทางและมิใช่ทาง ให้รู้จักการปฏิบัติที่ตั้งขึ้นได้ หรือไม่ตั้งขึ้นได้ ที่ก้าวหน้าหรือถอยหลัง ด้วยเหตุอะไร จะต้องรู้ ในการปฏิบัติประกอบความเพียรของตน โดยเหตุโดยผล โดยถูกทางโดยผิดทาง อะไรที่เป็นเหตุให้ย่อหย่อนเป็นเหตุให้ผิดทาง ก็ต้องรู้ อะไรที่เป็นเหตุให้ความประกอบความเพียรตั้งอยู่และก้าวหน้า เมื่อถูกทางก็ให้รู้ เพื่อว่าความประกอบความเพียรนั้นจะได้ดำเนินขึ้นได้ และเป็นไปโดยถูกต้องไม่ผิดทาง
ผลหลายอย่างในการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้สำคัญทั้งนั้น เพราะในการประกอบความเพียรนั้น จะต้องประสบกับผลที่บังเกิดขึ้นหลายอย่าง เป็นผลของกิเลสอันปฏิปักษ์ต่อสัมมัปปธาน คือความประกอบความเพียรที่ชอบก็มี เป็นผลของตัวความเพียรก็มี ซึ่งให้ผลปรากฏเป็นสุขก็มี เป็นทุกข์ก็มี และบังเกิดความประสบการณ์ในการปฏิบัติ ซึ่งมีเป็นขั้นตอน อาจจะเห็นนั่นเห็นนี่ในภายนอกก็มี จะต้องมีวิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณา ว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นในระหว่างปฏิบัตินั้น บางอย่างก็เป็นอุปกิเลส คือเป็นเครื่องเศร้าหมองของปฏิปทาที่ปฏิบัติไปสู่ความตรัสรู้
ถ้าหากว่าขาดปัญญาที่รู้จักก็ไปสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บางทีก็ไปเกิดความกลัวเมื่อไปพบนิมิตที่น่ากลัว บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเมื่อได้ประสบกับปีติสุขต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น
ดังที่มีเล่าถึงว่าท่านที่ปฏิบัติธรรมในป่าบางท่าน เมื่อท่านปฏิบัติไปได้รับความรู้และความสุข จิตใจปลอดโปร่งสะอาด ถึงกับร้องขึ้นว่าเราสำเร็จแล้วดังนี้ก็มี และต่อมาเมื่อถึงวันรุ่งขึ้นจึงรู้สึกว่ายังไม่สำเร็จ เพราะในขณะที่จิตบริสุทธิ์สะอาดนั้นรู้สึกเหมือนไม่มีกิเลส แต่เมื่อพ้นจากการปฏิบัตินั้นแล้ว จิตกลับสู่ภาวะปรกติรับอารมณ์ทั้งหลาย จึงรู้ว่ายังมียินดียินร้าย ยังไม่สำเร็จ อย่างนี้ก็มี จึงต้องมีวิมังสาความใคร่ครวญพิจารณานี้ อันเป็นข้อสำคัญ และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้แล้ว ก็ทำให้ได้สมาธิคือความตั้งใจมั่น ในอันที่จะประกอบความเพียร ความประกอบความเพียรจึงบังเกิดขึ้นได้
ดั่งนี้แหละจึงกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิบาท ซึ่งมีฉันทะเป็นใหญ่เรียกว่าฉันทาธิบดี มีวิริยะเป็นใหญ่เรียกว่ามีวิริยาธิบดี มีจิตตะเป็นใหญ่เรียกว่ามีจิตตาธิบดี มีวิมังสาเป็นใหญ่เรียกวิมังสาธิบดี ก็จะนำให้ได้สมาธิในการประกอบความเพียร แล้วก็ทำให้ประกอบความเพียร ซึ่งเป็นสัมมัปปธานะ นำให้การปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นสำเร็จอิทธิ คือความสำเร็จในการปฏิบัติดังกล่าว
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

-------------
สติปัฏฐาน ๔
›››››

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

]

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การปฏิบัติกรรมฐาน ผู้ปฏิบัติใช้หลักปฏิบัติในสติปัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ และพระสูตรที่แสดงสติปัฏฐานซึ่งเป็นพระสูตรใหญ่ ที่เรียกว่า มหาสติปัฏฐานสูตร ก็ได้ประมวลข้อกรรมฐานไว้เป็นอันมาก ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการอบรมกรรมฐานในสำนักนี้ และสำหรับในพรรษกาลที่แล้วมาจนถึงบัดนี้ ก็ได้ถือหลักสติปัฏฐานดั่งกล่าว แต่ว่าได้แสดงแทรกธรรมะจากพระสูตรต่างๆ ได้อธิบายธรรมะจากพระสูตรต่างๆ นั้น มิได้แสดงอธิบายสติปัฏฐาน ๔ โดยตรง โดยพิสดาร เพราะว่าได้เคยอธิบายไว้โดยพิสดาร และได้พิมพ์เป็นเล่มไว้ ผู้ต้องการทราบอธิบายในสติปัฏฐานโดยตรง ก็อาจที่จะหาอ่านได้ และแม้ว่าธรรมะที่แสดงอธิบายแทรกเข้ามานั้น จะเป็นธรรมะจากพระสูตรอื่น แต่ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้น ดังเช่นที่ได้ยกเอาข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ จากสัมมาทิฏฐิสูตร ที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดง มาอธิบายติดต่อกันมากครั้ง จนจบกระแสความในสัมมาทิฏฐิสูตรนั้น ก็รวมเข้าได้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเช่นเดียวกัน
เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ก็ได้แสดงมรรคมีองค์ ๘ ในหมวดอริยสัจจ์ ๔ มรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นข้อแรก เพราะฉะนั้น เมื่อจับแสดงสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นอันว่าได้แสดงข้อธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในวันนี้จะได้แสดงสรุปสติปัฏฐาน ๔ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในพระสูตรหนึ่ง แต่ก่อนที่จะแสดง ก็ขอกล่าวให้ทราบว่า ข้อที่แสดงจากพระสูตรที่กล่าวนี้ มิได้ยกข้อต่างๆ ตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งหมด แต่เลือกหยิบยกมาทรงแสดง และทรงแสดงในทางปัญญา แต่ก็พึงทราบว่าแม้ในทางสมาธิก็ย่อมรวมอยู่ในแนวเดียวกัน สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ที่จะแสดงในวันนี้ จึงอาจจะยากไปสำหรับผู้ที่มาอยู่ใหม่ ผู้ที่เข้ามาใหม่ แต่ว่าให้ถือว่าเป็นการแสดงสรุปในคราวสุดท้ายของพรรษกาลที่แล้ว เมื่อเริ่มแสดงใหม่เมื่อเข้าพรรษานี้แล้ว จึงจะได้แสดงตั้งต้น ซึ่งเป็นข้อที่จะฟังได้ง่ายขึ้น
สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือตั้งสติ คือความระลึกได้หรือความระลึกรู้ไว้ ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม

ในมหาสติปัฏฐานสูตรได้รวบรวมข้อที่พึงพิจารณาในกายไว้ ก็คือ ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ข้อว่าด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัว ในความเยื้องกรายอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ และอิริยาบถประกอบทั้งหลาย ข้อว่าด้วยกายนี้จำแนกออกเป็นอาการทั้งหลายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ข้อว่าด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำไฟลม ข้อว่าด้วยป่าช้า ๙ คือพิจารณาศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า แยกออกเป็น ๙ ข้อ ตั้งต้นแต่ศพที่ตายแล้ววันหนึ่งสองวันสามวันเป็นต้นไป จนถึงเป็นกระดูกผุป่น
ตั้งสติ พิจารณาเวทนา ก็คือตั้งสติกำหนดเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งที่เป็นสามิสคือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อให้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นนิรามิสคือไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ หรือเป็นเครื่องนำให้เกิดขึ้น
ตั้งสติ พิจารณาจิต ก็คือตั้งสติกำหนดดูจิตใจนี้ ที่มีราคะความติดใจยินดี หรือปราศจากราคะความติดใจยินดี ที่มีโทสะหรือปราศจากโมสะ ที่มีโมหะความหลงหรือปราศจากโมหะความหลง เป็นต้น
ตั้งสติ พิจารณาธรรม ก็คือตั้งจิตกำหนดดู ธรรมะทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นในจิต ตั้งต้นแต่กำหนดดูนิวรณ์ทั้ง ๕ คือกิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิต บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต มีกามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม พยาบาทความมุ่งร้ายปองร้ายเป็นต้น
กำหนดดูขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  กำหนดดูความเกิดของขันธ์ ๕ ความดับของขันธ์ ๕
ตั้งสติกำหนดดูอายตนะภายในทั้ง ๖ ที่รับอายตนะภายนอกทั้ง ๖ อายตนะภายในภายนอกที่รับกัน ก็คือตากับรูปที่ประจวบกัน หูกับเสียงที่ประจวบกัน จมูกกับกลิ่นที่ประจวบกัน ลิ้นกับรสที่ประจวบกัน กายและสิ่งถูกต้องกายที่ประจวบกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวที่ประจวบกัน เกิดสัญโญชน์คือความผูกใจ และก็ให้รู้จักความเกิดของสัญโญชน์ ความดับของสัญโญชน์ และสัญโญชน์ที่ดับแล้วจะไม่เกิดขึ้น
ตั้งสติกำหนดดูโพชฌงค์ทั้ง ๗ มีสติโพชฌงค์องค์แห่งความรู้คือสติ ธัมวิจยโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ คือธรรมวิจัยความเลือกเฟ้นธรรมเป็นต้น
ตั้งสติกำหนดดูอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ก็รวมเป็นตั้งสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ที่ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
วิธีปฏิบัติตั้งสติใน กาย เวทนา จิต ธรรม
และได้ตรัสสรุปไว้ในพระสูตรอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ตรัสอธิบายวิธีปฏิบัติตั้งสติ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
รวมความเข้ามาว่า ให้ปฏิบัติตั้งสติ คือความระลึกได้

ความกำหนดได้ ในกาย ก็คือใน ปฐวีกาย กายที่เป็นส่วนดิน อาโปกาย กายที่เป็นส่วนน้ำ เตโชกาย กายที่เป็นส่วนไฟ วาโยกาย กายที่เป็นส่วนลม เกสากาย กายที่เป็นส่วนผม โลมากาย กายที่เป็นขน ฉวิกาย กายที่เป็นส่วนผิว จัมมะกาย กายที่เป็นส่วนหนัง มังสะกาย ที่เป็นส่วนเนื้อ นหารูกาย กายที่เป็นส่วนเส้นเอ็น อัฏฐิกาย ที่เป็นส่วนกระดูก อัฏฐิมิญชะ กายกายที่เป็นส่วนเยื่อในกระดูก

ตั้งสติ กำหนดเวทนา ก็คือใน สุขเวทนา เวทนาความรู้ที่เป็นสุข ทุกขเวทนา ความรู้ที่เป็นทุกข์ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ตั้งสติกำหนดเวทนาที่เกิดทางสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางมโนคือใจ
( เริ่ม ๗๖/๑ ) ตั้งสติ กำหนดจิตใจ ก็คือกำหนดดูจิตที่มีราคะคือความติดใจยินดี หรือที่ปราศจากราคะคือความติดใจยินดี จิตที่มีโทสะหรือจิตที่ปราศจากโทสะ จิตที่มีโมหะหรือจิตที่ปราศจากโมหะ จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่ จิตที่ถึงความใหญ่ด้วยเมตตาภาวนาสมาธิเป็นต้น หรือจิตที่ไม่ถึงความใหญ่ จิตที่ยิ่งคือยิ่งด้วยสมาธิปัญญาวิมุติหลุดพ้น หรือจิตที่ไม่ยิ่ง จิตที่มีสมาธิหรือจิตที่ไม่มีสมาธิ จิตที่หลุดพ้นหรือจิตที่ไม่หลุดพ้น
ตั้งสติ กำหนดดูธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือที่เป็นกลางๆ ต่างๆ อันนอกไปจากข้อที่กล่าวแล้วในกายในเวทนาและในจิตทั้ง ๓ ข้างต้น
และได้ตรัสทางปฏิบัติเพื่ออะไร หรือโดยวิธีอย่างไรไว้ว่า ในการปฏิบัติตั้งสติดั่งกล่าวนั้น ก็ให้ปฏิบัติพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งหมด โดยเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดดับ มิใช่โดยนิจจะคือเป็นของเที่ยง โดยเป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่ตั้งอยู่คงที่ มิใช่โดยเป็นสุข โดยเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน มิใช่เป็นเรา มิใช่เป็นของเรา ไม่ใช่โดยอัตตาคือโดยเป็นตัวตน เป็นตัวเราเป็นของเรา มีความหน่ายมิใช่มีความเพลิดเพลิน มีความคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ มีความดับคือดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ มิใช่ก่อตัณหา มีความสละวางมิใช่มีความยึดถือ
การปฏิบัติตั้งสติก็โดยวิธีดังที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นว่าไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เป็นอนัตตามิใช่ตัวเราของเรา และเพื่อหน่ายไม่เพลิดเพลิน เพื่อคลายความติดใจ มิใช่ติดใจ เพื่อดับตัณหาดับทุกข์ มิใช่ก่อให้เกิดตัณหาก่อทุกข์ เพื่อปล่อยวางมิใช่เพื่อยึดถือ
ภาวนา การปฏิบัติ ๔ ประการ
และได้ตรัสสอนถึงวิธีปฏิบัติ ว่าการปฏิบัตินั้นเรียกว่า ภาวนา ที่แปลว่า ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีขึ้น และภาวนานั้นจะทำอย่างไร ก็ได้ตรัสสอนเอาไว้อีกว่า ภาวนาอันหมายถึงปฏิบัตินั้น ก็คือปฏิบัติทำสติ ความระลึกได้ หรือความกำหนด ทำญาณความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญาให้บังเกิดขึ้น ให้มีขึ้น ทันในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น โดยไม่ให้พลาด ไม่ให้ล่วงเลยเผลอเรอในธรรมะที่บังเกิดขึ้นในเวลานั้น
ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อตั้งจิตกำหนดดูกาย เช่นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็หมายถึงว่ากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่บังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดั่งเช่นกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่บังเกิดยู่ในบัดนี้ หายใจเข้าในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ หายใจออกในบัดนี้ ก็มีสติมีญาณกำหนดรู้ มิใช่ว่าเผลอ หายใจเข้าหายใจออกอยู่ในบัดนี้ แต่ว่าจิตมิได้กำหนด หรือกำหนดไม่ทัน จึงไม่มีสติไม่มีญาณอยู่ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น เพราะว่าเผลอสติ หรือว่าจิตไม่ตั้งกำหนด ไม่ตั้งเพื่อที่จะรู้
ฉะนั้น หน้าที่ของภาวนาคือ การปฏิบัติประการแรก ก็คือกำหนดให้มีสติ ให้มีปัญญาหรือญาณ กำหนดทันต่อธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๑
และให้รวมอินทรีย์ทั้งหลายมาปฏิบัติกิจคือหน้าที่พร้อมกัน ได้แก่รวมตา หู จมูก ลิ้น กาย  และมนะ คือใจ ให้มาปฏิบัติหน้าที่กำหนด อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น สุดแต่ว่าจะยกเอาข้อไหน กายข้อไหน เวทนาข้อไหน จิตข้อไหน ธรรมะข้อไหน ขึ้นมา ก็ให้ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งมนะคือใจ มาปฏิบัติหน้าที่กำหนดรู้พร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทั้ง ๖ นี้จะแยกย้ายกันไปทำงานทำหน้าที่ต่างๆ กัน ตาไปดูเสียทางหนึ่ง หูไปฟังเสียทางหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย มนะคือใจไปเสียทางหนึ่งๆ ต้องรวมกัน กล่าวย่อก็คือว่าต้องรวมกายใจนี้ทั้งหมดเข้ามาเป็นอันเดียวกัน นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาประการที่ ๒
และนำความเพียรพยายามปฏิบัติ โดยเริ่มดำเนินและก้าวหน้าไป จนบรรลุถึงเป้าหมาย บรรลุถึงความสำเร็จ เป็นสติเป็นญาณ กำหนดรู้อยู่ในธรรมะที่เกิดขึ้นในเวลานั้น คือในกายในเวทนาในจิตในธรรมที่กำหนดนั้น นี่เป็นหน้าที่ของภาวนาเป็นประการที่ ๓
และใช้ความเพียรปฏิบัติส้องเสพอยู่ในข้อที่ปฏิบัตินี้เนืองๆ เสมอๆ ให้สม่ำเสมอไม่ทอดทิ้ง และความส้องเสพนี้ก็หมายความว่า ให้รับเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ เหมือนอย่างบริโภคอาหาร ส้องเสพอาหารบริโภคอาหาร ก็ให้นำเข้าปาก เคี้ยวกลืนเข้าไปให้เข้าถึงในท้อง เพื่อย่อยไปเลี้ยงร่างกาย ในการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องรับเอาข้อที่ปฏิบัติ กรรมฐานที่ปฏิบัติให้เข้าไปถึงใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ ให้แผ่สร้านไปในใจ ดังเช่นที่ให้ปรากฏเป็นปีติเป็นสุขขึ้นในใจ เหมือนอย่างบริโภคอาหารเข้าไปย่อยเลี้ยงร่างกาย ให้ร่างกายอิ่มเอิบ ก็ส้องเสพเอาข้อที่ปฏิบัตินี้เข้าไปให้ถึงใจ ให้ใจอิ่มเอิบ เป็นปีติเป็นสุขขึ้น เป็นผลที่ได้รับ ดั่งนี้เป็นหน้าของภาวนาเป็นประการที่ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้
ก็เป็นอันว่าจบสรุปในสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
-------------

-------------

พละ ๕ 

สมเด็จพระญาณสังวร 
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม 

ได้แสดงโพธิปักขิยธรรมมาโดยลำดับ ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด หมวดที่ ๑ สติปัฏฐาน ๔ หมวดที่ ๒ สัมมัปปธาน ๔ หมวดที่ ๓ อิทธิบาท ๔ หมวดที่ ๔ อินทรีย์ ๕ และจะได้แสดงหมวดที่ ๕ คือ พละ ๕ 

พละ ๕ นี้คือกำลังหรือพลัง ๕ ข้อ มีชื่อเช่นเดียวกันกับอินทรีย์ ๕ คือ ๑ สัทธาพละ กำลังคือศรัทธา ๒ วิริยะพละ กำลังคือวิริยะความเพียร ๓ สติพละ กำลังคือสติ ๔ สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ ๕ ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา 

และธรรมะ ๕ ข้อนี้ก็มีอธิบายเช่นเดียวกันกับอินทรีย์ ๕ 


๏ สัทธาพละ 

ศรัทธานั้นมีพระพุทธาธิบายว่า ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า และตรัสอธิบายเพียงเท่านี้ก็มี บางแห่งตรัสอธิบายว่าเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้นก็มี จึงจะอธิบายเพิ่มเติมในข้อศรัทธาแต่เพียงว่า พระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้นเมื่อย่อลงก็เป็น ๓ คือ พระปัญญาคุณ คุณคือความตรัสรู้จริง พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง 

พระคุณทั้ง ๓ นี้ได้มีในบทสวดหลังทำวัตรเช้า คือหลังสวดสดุดีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คือบทว่า พุทโธ สุสุทโธ กรุณามหัณโว พุทโธพระผู้ตรัสรู้แล้ว แสดงถึงพระปัญญาคุณ วิสุทโธ พระผู้บริสุทธิ์แล้ว แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ กรุณามหัณโว มีพระกรุณาดั่งห้วงทะเลหลวง แสดงถึงพระกรุณาคุณ 

และในบทนอบน้อมพระพุทธเจ้าที่สวดนำ หรือคิดพิจารณาทำภาวนาทางจิตใจ ก็คิดนำด้วยบท นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ซึ่งทุกคนย่อมสวดกันได้ และถือเป็นบทสวดนำอันจะขาดมิได้ ที่แปลความว่า นะโม นอบน้อม ตัสสะ ภควะโต แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีคำแปลด้วยความหมายอันหนึ่งว่า พระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน อรหะโต ผู้เป็นพระอรหันต์ ควรไหว้ควรบูชา เพราะเป็นผู้ไกลกิเลส จึงเป็นผู้บริสุทธิ์กายวาจาใจสิ้นเชิง สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ 

ในบท นะโม นี้ยกพระพุทธคุณบทว่า ภคะวา ซึ่งเป็นบทที่ ๙ ขึ้นมานำหน้า ซึ่งมีความหมายว่าทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ข้อนี้แสดงถึงพระกรุณาคุณนั้นเอง และเพราะมีข้อนี้ชาวโลกจึ่งได้รับประโยชน์ จากความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 

ได้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน นำมาปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง อันเป็นฝ่ายโลกิยะเกี่ยวกับโลก และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอันเรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ ที่นำให้พ้นโลกพ้นกิเลส ก็เพราะพระคุณข้อนี้ คือทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน ด้วยพระมหากรุณาดั่งห้วงทะเลหลวง จึงได้กล่าวนมัสการยกพระคุณข้อนี้ขึ้นเป็นข้อที่ ๑ เพราะเป็นข้อที่ทำให้ได้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน สามารถปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อผลดีผลชอบตามที่ทรงสั่งสอน 

และเพราะธรรมะที่ทรงแสดง และฟังแล้วก็มาปฏิบัติ ย่อมได้พบกับความบริสุทธิ์กายวาจาใจ และทำให้ได้มองเห็นว่า พระพุทธเจ้าผู้พระศาสดา ผู้ทรงสั่งสอนนั้น ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์กายวาจาใจ ธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอนจึงเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ทำผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้บริสุทธิ์ และนำให้เกิดความเคารพบูชา นำให้ตั้งใจถึงหรือเปล่งวาจาถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะคือที่พึ่งของจิตใจ เป็นผู้นำทางจิตใจให้ปฏิบัติในทางอันถูกต้อง และเมื่อเป็นผู้ตามพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมได้ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ นำให้เกิดความเคารพบูชา 

จึงมาถึงบทที่ ๒ ว่า อรหะโต ที่มาจากคำว่า อะระหัง อันเป็นบทที่ ๑ ในพระพุทธคุณ ๙ บท แล้วจึงถึงพระพุทธคุณบทว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บทว่า อรหะโต นั้นก็แสดงถึงพระวิสุทธิคุณ และบทว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบนั้น ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ ซึ่งพระปัญญาคุณนี้เป็นความตรัสรู้ซึ่งเป็น สัพพัญญู เป็น สัพพัญญุตญาณ คือความรู้ทั้งหมด จึงเป็นความรู้ที่ไม่มีประมาณ เพราะรู้จบ เมื่อรู้จบก็ชื่อว่ารู้หมด รู้หมดก็คือรู้จบ 

จึงเป็นข้อที่ลึกซึ้ง ยังไม่ปรากฏแก่ผู้เริ่มปฏิบัติทีเดียว ผู้เริ่มได้พบเห็นพระพุทธเจ้า หรือว่าเริ่มได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมยังไม่สามารถจะเข้าไปในข่ายแห่งพระปัญญาคุณได้ ต้องฟังธรรมคือรับพระมหากรุณาจากพระองค์ และได้ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ นั่นแหละจึงจะปรากฏถึงพระปัญญาคุณ หรือเข้าในข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริง ตรัสรู้เองด้วย ตรัสรู้ชอบด้วย คือต้องอยู่ในขั้นเห็นธรรม จึงจะเห็นพระพุทธเจ้า ก็เห็นความตรัสรู้ของพระองค์นั้นเอง ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้ จึงจะเข้าข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า 

และเมื่อเข้าข่ายพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงจะได้ศรัทธาความเชื่อที่ตั้งมั่น ดังที่บังเกิดความรู้สึกสำนึกขึ้นในจิตใจตนเองว่า อโห พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นพระผู้ตรัสรู้จริงหนอ อโห ธัมโม ธรรมะเป็นธรรมที่ตรัสดีแล้วจริงหนอ อโห สังโฆ พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วจริงหนอ ดั่งนี้ 

เพราะฉะนั้นในบท นะโม นี้ จึ่งได้เริ่มด้วยบทสุดท้ายคือ ภคะวา แล้วจึงมาบทที่ ๑ อะระหัง แล้วมาบทที่ ๒ สัมมาสัมพุทโธ ในพระพุทธคุณทั้ง ๙ บทนั้น ถ้าหากว่าไม่มีพระพุทธคุณบทว่า ภคะวา แล้ว เราทั้งหลายก็จะไม่ได้ทราบไม่ได้รู้ธรรมะ และก็จะไม่รู้จักพระอรหันต์ ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธะ 

ฉะนั้น แม้พิจารณาพระพุทธคุณที่ย่อเข้ามา เป็นพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ หรือตามบท นะโม พิจารณาในพระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ดั่งนี้ ก็จะทำให้บังเกิดศรัทธาในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรียกอย่างง่ายๆ ว่าเชื่อความรู้ของครูอย่างไม่หวั่นไหว เป็นสัทธินทรีย์ อินทรีย์คือศรัทธา หรือสัทธาพละ กำลังคือศรัทธา 


๏ วิริยะพละ 

ในข้อที่ ๒ อินทรีย์คือวิริยะความเพียร หรือว่า วิริยะพละ กำลังคือพละ ก็ตรัสอธิบายไว้โดยมากว่า เริ่มความเพียรเพื่อละอกุศลทั้งหลาย เพื่อทำกุศลทั้งหลายให้เกิดขึ้น มีกำลังไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ในบางครั้งก็ตรัสยกเอาว่าความเพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔ ในบางครั้งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง บางครั้งก็แยกกันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าก็มีอรรถะคือเนื้อความถึงความเพียรเพื่อละ เพื่อๆ ละอกุศล เพื่อทำกุศลให้เกิดขึ้น หรือว่าความเพียรที่เป็นสัมมัปปธาน ๔ เช่นเดียวกัน 


๏ สติพละ 

ข้อ ๓ อินทรีย์คือสติ และพละคือสติ ก็ตรัสอธิบายทั่วๆ ไปว่ามีสติประกอบด้วยสติอันเป็นเครื่องรักษาตน ระลึกนึกได้ถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ หรือตรัสชี้เอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ บางแห่งก็ตรัสอย่างใดอย่างหนึ่ง บางแห่งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง แต่ว่า แม้ว่าจะตรัสโดยทั่วไป หรือว่าระบุเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็มีความอย่างเดียวกัน 


๏ สมาธิพละ 

มาข้อ ๔ อินทรีย์คือสมาธิ และพละคือสมาธิ ก็ตรัสอธิบายถึงสมาธิทั่วๆ ไป หรือสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิโดยตรงคือฌาน ๔ 

สมาธิทั่วๆ นั้นก็คือตรัสแต่เพียงว่า จะทำการวางอารมณ์ ได้สมาธิได้ จิตเตกัคคตา คือความที่จิตใจมียอดเป็นอันเดียว คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว บางแห่งก็ตรัสแยกกัน บางแห่งก็ตรัสรวมกัน ในข้อสมาธินี้ที่ตรัสโดยทั่วไปนั้น ก็อาจจะหมายถึงสมาธิเบื้องต้นรวมเข้าด้วย แต่ที่ตรัสถึงอัปปนาสมาธินั้น ก็เจาะจงเป็นอัปปนาสมาธิคือถึงฌาน 


๏ ปัญญาพละ 

ในข้อ ๕ อินทรีย์คือปัญญา กับพละคือปัญญานั้น ตรัสอธิบายถึงปัญญาในพุทธศาสนาทั่วๆ ไป คือปัญญาในพุทธศาสนานั้น มุ่งถึงปัญญาที่รู้ถึงความเกิดความดับแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งภายในคือขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้ของทุกๆ คน และทั้งภายนอก ทั้งที่มีใจครอง ทั้งไม่มีใจครอง เมื่อเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งหมด จึงเป็นปัญญาที่เจาะแทงลงไปเห็นความเกิดดับ เจาะแทงอะไร ก็เจาะแทงโมหะความหลง อวิชชาความไม่รู้ เมื่อเจาะแทงอวิชชาโมหะได้ ปัญญาก็ผุดขึ้นเห็นเกิดดับในสังขารทั้งหลาย เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นปัญญาที่ทำให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ เป็นปัญญาที่มุ่งหมายในพุทธศาสนาทั่วไป ต้องการปัญญาดั่งนี้ และในบางแห่งก็ตรัสระบุปัญญาในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ บางแห่งก็ตรัสแยกกัน บางแห่งก็ตรัสรวมกันทั้งสองอย่าง 

เพราะฉะนั้น อินทรีย์ ๕ กับพละ ๕ นี้ จึงมีข้อธรรมะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ว่าหมวดหนึ่งนั้นมุ่งเป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ เป็นใหญ่เหนืออกุศลธรรมทั้งหลายที่ตรงกันข้าม อีกหมวดหนึ่งคือพละ มุ่งถึงเป็นกำลังหรือเป็นพลังในอันที่จะปราบปรามกิเลส 

หรืออกุศลธรรมที่ตรงกันข้าม ดังเช่นว่าอินทรีย์คือศรัทธานั้นเป็นใหญ่เหนือความไม่เชื่อ พละคือศรัทธานั้นเป็นพลังที่ปราบปรามความไม่เชื่อลงได้ กำจัดความไม่เชื่อได้ อินทรีย์คือวิริยะความเพียรเป็นใหญ่เหนือความเกียจคร้าน พละกำลังคือความเพียร เป็นพลังเป็นกำลังสำหรับปราบปรามความเกียจคร้าน อินทรีย์คือสติเป็นใหญ่เหนือความหลงลืมสติ ความเผลอสติ พละกำลังคือสติเป็นเครื่องปราบปรามความหลงลืมสติ อินทรีย์คือสมาธิเป็นใหญ่เหนือความฟุ้งซ่านแห่งจิต พละกำลังคือสมาธิเป็นเครื่องปราบปรามความฟุ้งซ่านแห่งจิต 

อินทรีย์คือปัญญาเป็นเครื่องเป็นใหญ่เหนืออวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงถือเอาผิด พละกำลังคือปัญญาเป็นเครื่องปราบปรามทำลายอวิชชาโมหะ เพราะฉะนั้น จึงต้องแบ่งเป็น ๒ หมวด เป็นอินทรีย์หมวด ๑ เป็นพละหมวด ๑ เมื่อพิจารณาดูถึงบุคคลในโลกนี้ บุคคลผู้เป็นใหญ่ก็จะต้องมีพละคือกำลัง ถ้าไม่มีพละคือกำลังก็เป็นใหญ่ไม่ได้ และถ้าไม่มีความเป็นใหญ่ก็มีพละกำลังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งคู่นี้จึงได้ตรัสอธิบายไว้ว่าต่างอาศัยซึ่งกันและกัน อินทรีย์คือศรัทธาก็อาศัยพละคือศรัทธา พละคือศรัทธาก็ต้องอาศัยอินทรีย์คือศรัทธา อีก ๔ ข้อก็เช่นเดียวกัน 

และได้ตรัสอุปมาไว้ถึงว่าทำไมจึงต้องแยกออกเป็น ๒ หมวดดังนี้ ด้วยแม่น้ำสายเดียวที่ไหลไปทางทิศตะวันออก และได้มีเกาะๆ หนึ่งอยู่กลางแม่น้ำ เมื่อน้ำไหลไปถึงเกาะนั้นก็แยกเป็นสองสาย เมื่อสุดเกาะนั้นแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน เพราะฉะนั้น ธรรมะ ๒ หมวดนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน แต่เมื่อถึงเกาะก็แยกออกเป็นสองสาย เป็นซ้ายทางซ้ายสายหนึ่ง ทางขวาของเกาะสายหนึ่ง ตั้งแต่เหนือเกาะจนถึงท้ายเกาะ แยกเป็นสองสาย คือแยกเป็นอินทรีย์สายหนึ่ง เป็นพละสายหนึ่ง และเมื่อสุดเกาะแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน ครั้นพบเกาะเข้าอีกก็แยกเป็นสองสาย พ้นเกาะแล้วก็รวมเป็นสายเดียวกัน 

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมะ จะต้องต่อสู้กับกิเลสมาร มารคือกิเลสในจิตใจ ด้วยธรรมะ ดังธรรมะในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้ ปฏิบัติในหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลัก โดยที่ต้องอาศัยสัมมัปปธานและอิทธิบาท เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐาน และเมื่อพบเกาะคือเครื่องขัดขวางการปฏิบัติ ซึ่งเปรียบเหมือนเกาะที่เกิดกลางแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำแยกเป็นสองสาย จึงต้องแยกธรรมะนี้ออกเป็นสองสาย สายอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ คือต้องรักษาศรัทธาเป็นต้นให้เป็นใหญ่เหนือกิเลส และต้องมีพละคือกำลัง หรือมีศรัทธาเป็นต้นนั้นเองเป็นกำลัง สำหรับที่จะบำราบกิเลสมารลงไป เมื่อเป็นใหญ่ก็ชื่อว่ามีพละคือกำลัง และเมื่อมีพละคือกำลังก็ชื่อว่าเป็นใหญ่ 

เพราะฉะนั้นความเป็นใหญ่กับความมีพละคือกำลังต้องคู่กันไป ในคราวที่พบกิเลสมารอันจะต้องปราบปราม ซึ่งขัดขวางการปฏิบัติธรรมะ ก็ต้องมีความเป็นใหญ่ ต้องมีพละคือกำลัง คือต้องมีความเป็นใหญ่เหนือกิเลสมาร ต้องมีพละกำลังที่จะปราบกิเลสมารลงไปได้ จึงจะสวัสดีจากกิเลสมารที่มาขัดขวาง แล้วก็ดำเนินการปฏิบัติต่อไป คือต้องมีธรรมะ ๕ ข้อนี้เอง ต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา 


๏ สัทธานุสารี ธรรมานุสารี 

พระพุทธเข้าได้ตรัสยกอินทรีย์ ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะเมื่อได้สมาทานอินทรีย์ ๕ นี้ให้บริบูรณ์แล้ว ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระอนาคามี หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระสกทาคามี หย่อนกว่านั้นก็เป็นพระโสดาบัน หย่อนกว่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่า สัทธาวิมุติ มีศรัทธานำ หย่อนกว่านั้นก็หมายถึง ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า ธรรมานุสารี มีธรรมะนำ ธรรมะก็เป็นธรรมะทางปัญญา หย่อนกว่านั้นก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า สัทธานุสารี มีศรัทธานำ 

เพราะฉะนั้นธรรมะ ๕ ข้อนี้ จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะ จะพึงอบรมให้มีขึ้นเป็นพื้นอยู่ในตนอยู่เสมอ ขาดไม่ได้ทั้ง ๕ ข้อ จึงต้องมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ตั้งแต่ต้นไปโดยลำดับ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป 

-------------



มรรค ๘
›››››
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นไปในฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรวบรวมธรรมะหลายหมวด เข้ามาอยู่ในโพธิปักขิยธรรมนี้ คือประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมะถึง ๗ หมวด รวมเป็น ๓๗ ข้อ
จึงควรทำความเข้าใจว่าธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้โดยเอกเทศมาแล้วตั้งแต่ในเบื้องต้น มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรก อันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง ต่อมาจึ่งได้ทรงแสดงธรรมะหมวดอื่นๆ โดยเอกเทศ เช่นสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น
และแม้ทรงแสดงไว้โดยเอกเทศ แต่ในการปฏิบัตินั้นก็ปฏิบัติได้ตั้งแต่เบื้องต้น และรวมเข้าในทางอันเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยกัน และเมื่อทรงแสดงไว้โดยเอกเทศแต่ละคราวๆ คราวหนึ่งก็หมวดหนึ่งๆ ในตอนหลังก็ได้ทรงประมวลธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้เข้ามาเป็นโพธิปักขิยธรรม คือเป็นธรรมะที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ดังกล่าว
และก็สามารถกล่าวได้ว่าในทางปฏิบัตินั้น จับปฏิบัติแต่สติปัฏฐาน และก็มาสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ ในฐานะที่ทั้ง ๔ หมวดนี้เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐานให้สมบูรณ์ สติปัฏฐานจึงเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ และโพชฌงค์จึงเลื่อนขึ้นเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือจะทำความเข้าใจว่าทั้ง ๗ หมวดนี้จะยกหมวดไหนขึ้นมาปฏิบัติก็ได้ และทั้งหมดนี้ก็จะเนื่องถึงกันทั้งหมด เนื่องอยู่ รวมกันอยู่เป็นอันเดียวกัน เป็นธรรมะสามัคคีความพร้อมเพรียงกันของธรรมะ นำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกันหมด
และเมื่อได้แสดงมาโดยลำดับ โดยนัยยะที่ว่าตั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลักปฏิบัติ และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัยอบรมให้มีสัมมัปปธานเพียรชอบ ให้มีอิทธิบาท ให้มีอินทรีย์ ให้มีพละ สติปัฏฐานนี้จึงจะเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ ที่เป็นองค์ของความตรัสรู้ และเมื่อปฏิบัติในโพชฌงค์ไปจนถึงข้ออุเบกขา คืออุเบกขาโพชฌงค์ หรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็นำให้ได้ปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘ และการปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียงลำดับไว้ทั้ง ๘ ข้อนี้ โดยต่อเนื่องกันไป ดั่งที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งซึ่งแปลความว่า
กัลยาณมิตร
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ได้กึ่งหนึ่ง คือเป็นความประพฤติประเสริฐในพุทธศาสนา ได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้กล่าวอย่างนั้น ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร จักทำให้อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้บังเกิดขึ้น คืออบรมสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ ฉะนั้น ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร หรือมิตรที่ดีงาม ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร จึงเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น
และก็ได้ตรัสไว้อีกว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติคือความเกิดเป็นธรรมดา มีชราความแก่ มรณะความตายเป็นธรรมดา มีโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ เป็นธรรมดา คือมีทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมดา อาศัยเรา คืออาศัยพระพุทธเจ้าผู้พระตถาคตเป็นกัลยาณมิตร ก็จะพ้นจากชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย พ้นจากโสกะ ความโศกความแห้งใจ ปริเทวะ ความรัญจวนคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจได้ คือจะพ้นทุกข์ได้ดั่งนี้ เมื่ออาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรดั่งนี้ ก็จะปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ พ้นทุกข์ได้
ฉะนั้นจึงตรัสว่าความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร มิตรที่ดีงามคือพระพุทธเจ้า และเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตรคือพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ จึงชื่อว่าเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด (เริ่ม ๑๕๔) และอีกคราวหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความคล้อยตามผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด พระพุทธเจ้าได้ประทานสาธุการรับรองในคำกราบทูลของท่านพระสารีบุตรนั้น
อวิชชา วิชชา
และก็ได้ตรัสไว้เป็นข้อหลักว่า อวิชชาคือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงเป็นหัวหน้า เพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมสรรพแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ให้บังเกิด อหิริความไม่ละอายใจ อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดย่อมมีพร้อมแก่ผู้ที่มีอวิชชา มิจฉาสังกัปปะ คือความดำริผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด มิจฉาวาจา เจรจาผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสังกัปปะดำริผิด มิจฉากัมมันตะ การงานผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวาจา วาจาผิด มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉากัมมันตะการงานผิด สัมมาวายามะ เพียรผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาสติ ระลึกผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวายามะเพียรผิด มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสติระลึกผิด ดั่งนี้
และก็ได้ตรัสในทางตรงกันข้ามว่า วิชชาคือความรู้ถูกต้องในสัจจะที่เป็นความจริง เป็นหัวหน้าเพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมพรั่งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย กับทั้ง หิริความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีวิชชา สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสังกัปปะดำริชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสติระลึกชอบ ดั่งนี้ เป็นอันได้ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ นี้โยงกันไป เป็นมรรคสมังคี คือความพร้อมเพรียงของมรรค
ฉะนั้น จุดอันสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ อวิชชากับ วิชชา อวิชชาคือความไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง วิชชาคือความรู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง เมื่อมีอวิชชาซึ่งเป็นตัวความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริง ก็นำให้บังเกิดมิจฉามรรค คือทางปฏิบัติที่ผิดไปทุกข้อ เมื่อมีวิชชาคือความรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ย่อมนำให้เกิดสัมมามรรค คือทางปฏิบัติที่ชอบ คือมรรคมีองค์ ๘ ไปทุกข้อ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น จึงกล่าวสรุปได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อรู้ คือรู้จักสัจจะที่เป็นความจริง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง และความรู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ ก็เรียกว่าวิชชานั้นเอง เมื่อยังไม่รู้อยู่ก็เป็นอวิชชา
ความรู้หลง
และสามัญชนทั่วไปนั้นต่างก็มีอวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน เพราะฉะนั้น ความรู้ที่แสดงออกมา ความรู้ที่บังเกิดขึ้นทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น ความรู้ที่บังเกิดขึ้นอันเป็นธรรมชาติของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาสดับฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และได้ใช้ปัญญาที่มีอยู่อันเป็นธรรมชาติของจิตของมนุษย์พิจารณา ย่อมจะทำให้ได้ปัญญา คือความรู้ที่เป็นความรู้ถูกต้อง เป็นวิชชาคือความรู้ที่เป็นความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ
กิจของคนฉลาด
และในการปฏิบัตินี้ก็กล่าวได้ว่าผู้ปฏิบัติทุกท่านทุกคน ต่างก็ได้มีการปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา มาตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตั้งแต่ในเบื้องต้น และก็กล่าวได้ว่าต้องมีตัววิชชาหรือปัญญา อันมีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งมีจิตอันเป็นธาตุรู้ที่ได้อบรมมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ากุศลที่แปลว่ากิจของคนฉลาด ได้แก่สามารถมีความรู้เปรียบเทียบขาวดำ ประณีตหรือเลว มีโทษไม่มีโทษ ดีไม่ดี ขึ้นโดยลำดับ อันเป็นสัจจะที่เป็นความจริงอย่างหนึ่งๆ
พระพุทธเจ้าก่อนแต่ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าเองได้ทรงอบรมพระบารมีมาก่อนแต่ตรัสรู้ ทรงเป็นบุคคลพิเศษที่เรียกว่าโพธิสัตว์ คือเป็นสัตว์ที่จะตรัสรู้ ซึ่งเป็นผู้ที่ยังข้องอยู่ เพราะสัตตะแปลว่าผู้ข้องผู้ติด แต่ข้องติดอยู่ในความรู้เพื่อที่จะรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาสิ้นเวลาเป็นอันมาก แม้ในพระชาติที่เป็นสิทธัตถะราชกุมาร ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงได้ทรงสละทางโลกทุกอย่างออกทรงผนวช ในระยะเหล่านี้ก็กล่าวได้ว่า ได้ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในศีล คือความประพฤติทางกายวาจาใจ เว้นจากการก่อภัยก่อเวร อันเกิดความเดือดร้อน และมีพระทัยตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อได้ทรงเห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย เห็นสมณะ จึงได้ทรงนำมาใคร่ครวญพิจารณา โดยน้อมเข้ามาถึงพระองค์เองว่า พระองค์เองก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างนั้น จะทรงเป็นอะไรอยู่ในโลก จนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก ก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไม่พ้นไปได้
จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น โดยทรงอนุมานขึ้นในพระทัยว่า เมื่อมีแก่เจ็บตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง มีกลางคืนก็มีกลางวัน คู่กัน จึงได้ทรงสลัดทางโลก ออกเสด็จบรรพชาเที่ยวแสวงหาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น ในชั้นนี้ ก็ทรงมีศีลคือความประพฤติที่งดเว้นจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ทรงมีสมาธิคือตั้งพระทัยมั่นอยู่ในโมกขธรรม และก็ทรงแสวงหา คือแสวงหาปัญญาความรู้นั้นเอง หรือแสวงหาวิชชาคือความรู้นั้นเองในโมกขธรรม ทรงปฏิบัติทุกอย่าง ทรงแสวงหาทุกๆ อย่าง ก็เพื่อให้พบกับปัญญาหรือวิชชา ซึ่งเป็นตัวความรู้ถูกต้อง หรือว่าสัจจะที่เป็นความจริงนี้เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น
จึงกล่าวได้ว่าได้ทรงมีศีลอยู่เป็นภาคพื้น และได้ทรงมีสมาธิคือพระทัยที่ตั้งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง และก็ทรงได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นโดยลำดับ น้อมเข้ามารู้ที่พระองค์เอง ว่าที่ปฏิบัติไปนั้นพ้นหรือยัง ยังมีโลภโกรธหลง ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่หรือไม่ ก็ทรงพบว่ายังไม่ทรงพบโมกขธรรม เพราะทรงปฏิบัติไปอย่างไรในสำนักของอาจารย์ก็ดี ทรงปฏิบัติเองในทุกรกิริยาก็ดี ทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในพระทัยเองนั้นก็ยังไม่พ้น ยังมีราคะโทสะโมหะ ยังมีโลภโกรธหลง ทรงน้อมเข้ามารู้พระองค์เอง ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เองว่าที่ปฏิบัติไปนั้นยังไม่ใช่ทาง ยังไม่ใช่ทางก็ทรงแสวงหาเรื่อยไปตามลำดับ
ดั่งนี้เรียกว่าได้ทรงบำเพ็ญมาในศีลในสมาธิในปัญญาที่เบื้องต้นนี้เป็นลำดับมา จึงทรงไม่หลงไปในข้อปฏิบัตินั้นๆ ยึดถืออยู่ในข้อปฏิบัตินั้นๆ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็แปลว่ายังไม่บรรลุโมกขธรรม เพราะจิตใจเมื่อยังมีกิเลสอยู่นี้ ตัวเองรู้สึกเองว่ามี ถึงว่าจะปฏิบัติอย่างไร ในศีลในสมาธิในปัญญาอย่างไร แม้ในพุทธศาสนานี้เอง หากว่ากิเลสยังมีอยู่ กิเลสย่อมจะแสดงออกมาให้รู้ได้ที่จิตใจตนเอง ว่ายังไม่พ้น
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของพระองค์นั้นจึงมีพื้นฐานมาเป็นอันมาก และศีลของพระองค์ก็บริสุทธิ์ขึ้นโดยลำดับ จนถึงทรงได้สมาธิที่บริสุทธิ์ สมาธิที่ปล่อยวาง น้อมพระทัยที่เป็นสมาธิในเพื่อรู้ นี้ไปเพื่อรู้ ญาณคือความหยั่งรู้ที่เรียกว่าเป็นจักขุคือดวงตาจึงได้ผุดขึ้นในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ดั่งนี้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ และเมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว อีกข้อต่อๆ ไปก็เนื่องกันไป ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นครบทั้ง ๘ ฉะนั้นสมาธิที่บริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ ที่จะนำไปให้บังเกิดญาณคือความหยั่งรู้ ที่ผุดขึ้นในสัจจะทั้ง ๔ ได้ จึงเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ อันได้แก่สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ องค์แห่งความตรัสรู้ คือสมาธิ และคืออุเบกขา อันเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์
สมาธิต้องประกอบด้วยอุเบกขา
เพราะสมาธิที่บริสุทธิ์นั้นต้องประกอบด้วยอุเบกขา คือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ วางความยึดถืออะไรทั้งหมด ฉะนั้นจึงต้องผ่านโพชฌงค์ จนถึงสมาธิอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ และน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จักขุคือดวงตา คือญาณ คือวิชชา คือปัญญา คือความสว่างก็ผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ มรรค ๘ ก็บังเกิดขึ้นสมบูรณ์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะเป็นโพธิปักขิยธรรม
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น