ทุพภิกขภัยที่เวสาลี

กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติก็มั่นคงไพบูลย์. ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคนเกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.

สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย. ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น. พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น พิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไร ๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร. ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านี้ย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป. บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป. ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น จึงดีพระทัยตรัสว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ. เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้า ทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา. ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัยแล้ว นำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระราชาไม่ทรงรับรองตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด. เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่าง เกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่าเมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับจะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นโปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.

โฆษณา
REPORT THIS AD

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์   ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า   ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้ และของหอมเป็นต้น พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่ง ๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน . ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว   ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่า จะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลี และแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้น สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น. ทีนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.

เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลาย มีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี.

โฆษณา
REPORT THIS AD

ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ. ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืดมีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไปส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ. ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.

พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุก ๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนท์มาสั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.

การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ว่า ก็พระสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้พิสดาร ตั้งแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไป ด้วยประการฉะนี้.

ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร   [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร. พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือน เป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ว่าง   อมนุษย์บางพวก   เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระ ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้. ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้า และมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร. แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่น ๆ ด้วย. แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ณที่นั้น   พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นแหละแก่ทุกคนแล.

ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า   ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่ารัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด   กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้พิสดารแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้.

เรื่องราวทุพภิกขภัยในกรุงเวสาลีก็จบลง

ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

อสงไขย นานขนาดไหน

                  กลับมาอีกครั้ง หลังหายไปนาน เนื่องจากไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี คิดไปคิดมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าอสงไขยมาบ้าง เช่น หลังจากสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว จะใช้เวลาอีก 4 อสงไขย กับเศษอีกแสนกัป จะได้บรรลุพระสัมมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว 4 อสงไขย กับแสนกัป มันนานขนาดไหนละเนี่ย

                   ในบรรดาวิธีการนับในโลกนี้ ที่รู้กันโดยทั่วไป คือ หนึ่ง เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน เป็นสิบล้าน เป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน เป็นล้านล้าน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้จะนับอย่างไรต่อ หน่วยวัดที่มากที่สุดที่โลกใช้กันคือ ปีแสง (มากกว่านี้ก็มี เช่น Tredecillion Vigintillion แต่ไม่มีการใช้โดยทั่วไป ไม่มีกำหนดว่าใช้นับอะไร) ซึ่ง 1 ปีแสง คือระยะทาง 9,460,730,472,580.8 กิโลเมตร แต่ล้านล้านปีแสงก็ยังไม่ได้เสี้ยวของอสงไขย แล้วอสงไขยหนึ่งมันนานขนาดไหน

                  จำนวนปีที่มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้นมากมายเหลือที่จะนับกันธรรมดา ในทางพุทธศาสนาจึงต้องมีหน่วยนับที่พิเศษที่จะให้เข้าใจตรงกัน ถึงความยาวนาน ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา เล่มที่ 70 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค๑ ดังนี้

                  “บารมี ๑๐ ถ้วนนั่นเอง จัดเป็นบารมี ๓๐ ถ้วน ด้วยอำนาจบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ โดยเป็นอย่างต่ำ อย่างกลางและอย่างสูง. ผู้บริบูรณ์ดี คือผู้สมบูรณ์ ประกอบ พร้อมพรั่ง บรรลุประกอบพร้อมด้วยบารมี ๓๐ ถ้วนนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ถ้วน. ชื่อว่า ราชา เพราะยังหมู่สัตว์ผู้อยู่ในสกลโลกทั้ง ๓ และกายของตนให้ยินดี คือให้ยึดติดด้วยพรหมวิหารสมาบัติ ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือด้วยความเป็นผู้มีจิตเป็นอันเดียวด้วยธรรมเครื่องอยู่แห่งผลสมาบัติ, พระราชาโดยธรรม ชื่อว่าพระธรรมราชา, พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างนี้. อธิบายว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาที่ล่วงไปแล้ว คือ จากไปแล้ว ดับแล้ว ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว มีจำนวนนับไม่ได้ คือเว้นจากการนับ ด้วยอำนาจจำนวน สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ปโกฏิ โกฏิปโกฏิ นหุต นินนหุต อักโขภินี พินทุ อัพพุทะ นิรัพพุทะ อหหะ อพพะ อฏฏะ โสคันธิกะ อุปปละ กุมุทะ ปุณฑริกะ ปทุมะ กถานะ มหากถานะ และอสังเขยยะ

โฆษณา
REPORT THIS AD

                  จะเป็นว่าอสังเขยยะ หรืออสงไขยเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก แล้วจริงๆ คือเท่าไร คำตอบคือ

                   หนึ่งอสงไขย เท่ากับ 10140  (คือ เขียนเลข 1 แล้วเติมศูนย์ไปอีก 140 ตัว) ดังตามตารางนี้

หน่วยนับจำนวนในพระไตรปิฎก 

ร้อยแสน

เป็น

โกฏิ
ร้อยแสน โกฏิ

เป็น

ปโกฏิ
ร้อยแสน ปโกฏิ

เป็น

โกฏิปโกฏิ
ร้อยแสน โกฏิปโกฏิ

เป็น

นหุต
ร้อยแสน นหุต

เป็น

นินนหุต
ร้อยแสน นินนหุต

เป็น

อักโขภินี
ร้อยแสน อักโขภินี

เป็น

พินทุ
ร้อยแสน พินทุ

เป็น

อัพภุทะ
ร้อยแสน อัพภุทะ

เป็น

นิรพุทะ
ร้อยแสน นิรพุทะ

เป็น

อหหะ
ร้อยแสน อหหะ

เป็น

อพพะ
ร้อยแสน อพพะ

เป็น

อฏฏะ
ร้อยแสน อฏฏะ

เป็น

โสคันธิกะ
ร้อยแสน โสคันธิกะ

เป็น

อุปละ
ร้อยแสน อุปละ

เป็น

กมุทะ
ร้อยแสน กมุทะ

เป็น

ปทุมะ
ร้อยแสน ปทุมะ

เป็น

ปุณฑริกะ
ร้อยแสน ปุณฑริกะ

เป็น

อกถานะ
ร้อยแสน อกถานะ

เป็น

มหากถานะ
ร้อยแสน มหากถานะ

เป็น

หนึ่งอสงไขย
 
                       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญเพียร เป็นเวลาอย่างน้อย 20 อสงไขย กับเศษอีกแสนกัป (ประเภทปัญญาธิกะ) ก็คือต้องบำเพ็ญเพียรเป็นเวลา 20 x 10140  ปี กับเศษอีกแสนกัป แล้วหนึ่งกัปนานขนาดไหน

กัป (กัลป์), ระยะเวลา

            กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬ  ประลัยครั้งหนึ่ง   (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม)   พระอรรถกถาจารย์ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ ก.ม.) ทุก ๑๐๐ ปี มีเทวดานำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง  จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป   ถือว่าเป็นกัปหนึ่ง

            อายุของกัปมี ๒ แบบ คือ

            ๑. กำหนดอายุของโลก  ซึ่งอุปมามีอายุยาวนานดังความข้างต้น

            ๒. กำหนดอายุของมนุษย์ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า

            ในสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงคุณของอิทธิบาท ๔ ให้พระอานนท์ทราบว่า  ผู้เจริญอิทธิบาท ๔ แล้วจะดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัปก็ได้   แต่สิ่งที่พุทธองค์ได้ทรงตรัสนั้นหมายถึงอายุกัปของมนุษย์  ไม่ได้หมายถึงอายุของโลก  อายุกัปของคนยุคนี้  ประมาณ ๘๐-๑๒๐ ปี หากจะเกินก็ไม่เกิน ๑๕๐ ปี

              หวังว่าทั้งหมดนี้คงจะทำให้หลายคนพอเข้าใจว่าอสงไขยมากขนาดไหน กัปยาวนานอย่างไร หากมีคำถาม ข้อสงสัยใด สามารถเขียนความเห็นไว้ได้

               ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

เรื่องของบุญ ให้กันได้

              กลับมาอีกครั้ง หลายคนอาจจะเคยเห็นคนทำบุญแล้วมีคนมาอนุโมธนา หรือบางครั้งบ้างที่มีแม้แต่การแบ่งบุญ บางคนอาจสงสัย บุญไม่ใช่สิ่งของ ใครทำใครได้ แล้วจะมาเที่ยวให้คนอื่นๆได้อย่างไร การที่มีคนเอาบุญมาใหเรา เราจะได้บุญจริงหรือ วันนี้เลยมีเรื่องราวของท่านพระอนุรุทธเถระมาฝาก ครั้งหนึ่งในอดีตท่านเคยเกิดเป็นบุรุษเข็ญใจ ชื่อนายอันนภาระ เรื่องราวมีดังนี้

                เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น.พระอนุรุทธเถระถือปฏิสนธิในเรือนของตระกูลเข็ญใจ เป็นคนหาบหญ้า อาศัยสุมนเศรษฐีอยู่ เขาได้มีชื่อว่า อันนภาระ.   ฝ่ายสุมนเศรษฐีนั้น ให้มหาทานที่ประตูบ้าน แก่คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก.  ทุกวันๆ

                  ภายหลัง ณ วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า   นามว่าอุปริฏฐะ เข้านิโรธสมาบัติ  ที่ภูเขาคันธมาทน์  ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว พิจารณาว่า วันนี้ ควรจะทำการอนุเคราะห์ใคร.  ก็ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้อนุเคราะห์คนเข็ญใจ   ท่านคิดว่าวันนี้เราควรทำการอนุเคราะห์ นายอันนภาระ ทราบว่า นายอันนภาระจักออกจากดงมายังบ้านตน   จึงถือบาตรและจีวรจากภูเขาคันธมาทน์  เหาะขึ้นสู่เวหาสมาปรากฏเฉพาะหน้านายอันนภาระที่ประตูบ้านนั่นเอง.  นายอันนภาระ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ถือบาตรเปล่าจึงอภิวาทพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วถามว่า ท่านได้ภิกษาบ้างไหมขอรับ.  พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า  จักได้ผู้มีบุญมาก. เขากล่าวว่า โปรดรออยู่ที่นี้ก่อนเถิดขอรับ แล้วรีบไป ถามแม่บ้านในเรือนของตนว่า นางผู้เจริญ ภัตอันเป็นส่วนเก็บไว้เพื่อเรา มีหรือไม่. นางตอบว่า มี จ้ะนาย. เขาไปจากที่นั้นรับบาตรจากมือพระปัจเจกพุทธเจ้ามากล่าวว่า นางผู้เจริญ เพราะค่าที่ไม่ได้ทำกัลยาณกรรมไว้ในชาติก่อน เราทั้ง ๒ จึงหวังได้อยู่แต่การรับจ้าง เมื่อความปรารถนาจะให้ของพวกเรามีอยู่ แต่ไทยธรรมไม่มี เมื่อไทยธรรมมีก็ไม่ได้ปฏิคาหก วันนี้เราพบพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าเข้าพอดี และภัตอันเป็นส่วนแบ่งก็มีอยู่   เจ้าจงใส่ภัตที่เป็นส่วนของฉันลงในบาตรนี้. หญิงผู้ฉลาดคิดว่า เมื่อใดสามีของเราให้ภัตซึ่งเป็นส่วนแบ่ง เมื่อนั้นแม้เราก็พึงมีส่วนในทานนี้ จึงวางแม้ภัตอันเป็นส่วนของตนลงในบาตรถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า. นายอันนภาระ  นำบาตรอันบรรจุภัตมาวางในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ขอให้พวกข้าพเจ้าพ้นจากความอยู่อย่างลำบากเห็นปานนี้เถิดขอรับ.   พระปัจเจกพุทธเจ้า อนุโมทนาว่า จงสำเร็จอย่างนั้นเถิดผู้มีบุญมาก.  เขาลาดผ้าห่มของตนลง ณ ที่ส่วนหนึ่งแล้วกล่าวว่า ขอจงนั่งฉันที่นี้เถิด ขอรับ. พระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง ณ อาสนะนั้นแล้ว พิจารณาความเป็นของปฏิกูล ๙ อย่าง แล้วจึงฉัน

โฆษณา
REPORT THIS AD

                  เมื่อฉันเสร็จแล้ว นายอันนภาระจึงถวายน้ำสำหรับล้างบาตร พระปัจเจกพุทธเจ้า เสร็จภัตกิจแล้วกระทำอนุโมทนาว่า สิ่งที่ท่านต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว ความดำริจงเต็มหมดเหมือนพระจันทร์เพ็ญ   ๑๕   ค่ำฉะนั้น สิ่งที่ท่านต้องการแล้วปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว ความดำริจงเต็มหมด เหมือนมณีมีประกายโชติช่วง ฉะนั้น. แล้วออกเดินทางไป.

                   เทวดาที่สิงอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ทานที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อุปริฏฐะเป็นทานอย่างยิ่งถึง ๓ ครั้ง แล้วได้ให้สาธุการ สุมนเศรษฐีกล่าวว่า ท่านไม่เห็นเราให้ทานอยู่ตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ดอกหรือ  เทวดากล่าวว่า เราไม่ให้สาธุการในทานของท่าน เราเลื่อมใสในบิณฑบาตที่นายอันนภาระถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ จึงให้สาธุการ สุมนเศรษฐีดำริว่า เรื่องนี้น่าอัศจรรย์หนอ เราให้ทานตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ ก็ไม่อาจทำให้เทวดาให้สาธุการ นายอันนภาระนี้อาศัยเราอยู่  ด้วยการถวายบิณฑบาตครั้งเดียวเท่านั้นทำให้เทวดาให้สาธุการได้    เพราะได้บุคคลผู้เป็นปฏิคาหกที่สมควรเราให้สิ่งที่สมควรแก่นายอันนภาระนั้น แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของของเราจึงจะควร   ดังนี้   เรียกนายอันนภาระมาแล้วถามว่าวันนี้เจ้าให้ทานอะไร ๆ แก่ใครหรือ ขอรับนายท่าน ข้าพเจ้าถวายภัตรที่เป็นส่วนของข้าพเจ้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ เศรษฐีกล่าวว่า เอาเถอะเจ้า เธอจงรับกหาปณะไปแล้วให้บิณฑบาตนั้นแก่เราเถอะ ให้ไม่ได้หรอกนายท่าน เศรษฐีเพิ่มทรัพย์ขึ้นจนถึงพันกหาปณะ  นายอันนภาระก็ยังกล่าวว่า  แม้ถึงพันกหาปณะก็ยังให้ไม่ได้ เศรษฐีกล่าวว่า  ช่างเถอะเจ้า  หากเจ้าไม่ให้บิณฑบาต ก็จงรับทรัพย์พันกหาปณะไปแล้วจึงให้ส่วนบุญแก่ฉันเถอะ นายอันภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าแม้ส่วนบุญนั้น  ควรให้หรือไม่ควรให้แต่ข้าพเจ้าจะถามพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะดู  ถ้าควรให้ก็จักให้ ถ้าไม่ควรให้ก็จักไม่ให้

โฆษณา
REPORT THIS AD

              นายอันนภาระเดินไปทันพระปัจเจกพุทธเจ้า ถามว่า ท่านเจ้าข้า สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์แก่ข้าพเจ้าพันหนึ่ง ขอส่วนบุญในบิณฑบาตที่ถวายแก่ท่าน ข้าพเจ้าควรจะให้หรือไม่ให้

               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า บัณฑิต   เราจักทำอุปมาแก่ท่าน เหมือนอย่างว่า ในบ้านตำบลนี้มีร้อยตระกูล  เราจุดประทีปไว้ในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้น   ตระกูลพวกนี้เอาน้ำมันเติมให้ใส้ตะเกียงชุ่มแล้วมาต่อไฟถือไป แสงของประทีปดวงเดิมยังมีอยู่หรือหาไม่

                นายอันนภาระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า แสงประทีปก็สว่างขึ้นไปอีกเจ้าข้า

                ข้อนี้อุปมาฉันใด ดูก่อนบัณฑิต ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือข้าวสวยทัพพีหนึ่งจงยกไว้  เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่คนเหล่าอื่นในบิณฑบาตของตน พันคนหรือแสนคนก็ตาม ให้แก่คนเท่าใด บุญก็เพิ่มขึ้นแก่ตนมีประมาณเท่านั้น เมื่อท่านให้ก็ให้บิณฑบาตอันเดียวนั่นแหละ ต่อเมื่อให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีอีกเล่า บิณฑบาตก็ขยายไปเป็น ๒ คือของท่านส่วนหนึ่ง ของเศรษฐีส่วนหนึ่ง

                 ดังนี้นายอันนภาระกราบพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกลับไปยังสำนักของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า ขอท่านจงรับส่วนบุญในบิณฑบาตทานเถิด นายท่าน เศรษฐีกล่าวว่า เชิญท่านรับทรัพย์พันกหาปณะไปเถิด นายอันนภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ขายบิณฑบาตทาน แต่ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา เศรษฐีกล่าวว่า พ่ออันนภาระ พ่อให้ส่วนบุญแก่เราด้วยศรัทธา แต่เราบูชาคุณของพ่อ ฉันให้พันกหาปณะนี้ จงรับไปเถอะพ่ออันนภาระ นายอันนภาระกล่าวว่า จงเป็นอย่างนั้น จึงถือเอาทรัพย์พันกหาปณะไป   เศรษฐีกล่าวว่า   พ่ออันนภาระ ตั้งแต่พอได้ทรัพย์พันกหาปณะแล้ว ไม่ต้องทำกิจเกี่ยวแก่กรรมกรด้วยมือของตน จงปลูกเรือนอยู่ใกล้ถนนเถิด ถ้าพ่อต้องการสิ่งใด ฉันจะมอบสิ่งนั้นให้ พ่อจงมานำเอาไปเถอะ

โฆษณา
REPORT THIS AD

                  ธรรมดาบิณฑบาตที่บุคคลถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า  ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมให้ผลในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นสุมนเศรษฐีในวันอื่นแม้ไปสู่ราชตระกูล  ไม่เคยชวนนายอันนภาระไปด้วย แต่ในวันนั้นได้ชวนไปด้วย เพราะอาศัยบุญของนายอันนภาระ   พระราชาไม่มองดูเศรษฐีเลย   ทรงมองแต่นายอันนภาระเท่านั้น เศรษฐีจึงทูลถามว่า เทวข้าแต่สมมติเทพ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงมองดูแต่บุรุษผู้นี้ยิ่งนักพระเจ้าค่ะ พระราชาตรัสว่า เรามองดูเพราะไม่เคยเฝ้าในวันอื่น ๆ  เศรษฐีทูลว่า เทวเขาสมควรมองดูอย่างไร   คุณที่ควรมองดูของเขาคืออะไร   เพราะวันนี้เขาไม่บริโภคภัตรที่เป็นส่วนของตนด้วยตนเอง    แต่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ เขาได้ทรัพย์พันกหาปณะจากมือของข้าพระองค์พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า เขาชื่อไร ชื่อนายอันนภาระพระเจ้าข้า เพราะได้จากมือของท่าน ก็ควรจะได้จากมือของเราบ้าง เราเองก็จักทำการบูชาเขา จึงพระราชทานทรัพย์พันกหาปณะแล้วตรัสว่า พนาย จงสำรวจดูเรือนที่คนนี้จะอยู่ได้ ราชบุรุษทูลว่า พระเจ้าข้า  ราชบุรุษทั้งหลายจัดแจงแผ้วถางที่สำหรับเรือนนั้นได้พบขุมทรัพย์ชื่อปิงคละ ในที่ๆ จอบกระทบแล้วๆ ตั้งเรียงกัน  จึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

                 พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงไปขุดขึ้นมา เมื่อราชบุรุษเหล่านั้นขุดอยู่ ขุมทรัพย์ก็จมลงไป ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลพระราชาอีก พระราชาตรัสว่า จงไปขุดตามคำของนายอันนภาระ  ราชบุรุษก็ไปขุดตามคำสั่ง ขุมทรัพย์เหมือนดอกเห็ดตูมๆ ผุดขึ้นในที่ๆ จอบกระทบแล้ว ราชบุรุษเหล่านั้นขนทรัพย์มากองไว้ในพระราชสำนัก  พระราชาประชุมอำมาตย์ทั้งหลายแล้วตรัสถามว่า ในเมืองนี้ ใครมีทรัพย์มีประมาณถึงเท่านี้ไหม อำมาตย์ทูลว่า ไม่มีของใครพระเจ้าข้า ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น นายอันนภาระนี้จงชื่อว่า  ธนเศรษฐีในพระนครนี้ เขาได้ฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีในวันนั้นนั่นเอง.

โฆษณา
REPORT THIS AD

                  ตั้งแต่วันนั้น   เขากระทำแต่กรรมอันดีงามจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นไปเกิดในเทวโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์เป็นเวลานาน ครั้งที่พระศาสดาของพวกเราทรงอุบัติ ก็มาถือปฏิสนธิในนิเวศน์เจ้าศากยะพระนามว่า อมิโตทนะ กรุงกบิลพัสดุ์ ในวันขนานนาม ผู้คนทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า เจ้าอนุรุทธ

                  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีตของพระอนุรุทธเถระ ซึ่งพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าได้ยืนยันว่าบุญสามารถแบ่งให้กันได้ดั่งการตามประทีปโคมไฟ ดังนั้นต่อไปนี้หากมีใครมีไปทำบุญมา แล้วเอาบุญมาฝาก อย่ามัวแต่สงสัยหัวเราะ รีบอนุโมธนาสาธุการ จะยังผลให้เรามีส่วนในบุญนั้นด้วย

                  ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

พระพุทธเจ้าเปิดโลก

                  กลับมาพบกันอีกครั้งหลังหายไปนาน จากปัญหาน้ำท่วมและภาระอื่นๆ ติดตามกันต่อเลย

พระพุทธองค์ทรงเปิดโลก

                  พระเถระทูลว่า  “ดีละ  พระเจ้าข้า”  แล้วได้บอกตามรับสั่ง.

                  พระศาสดาเสด็จจำพรรษาปวารณาแล้ว  ตรัสบอกแก่ท้าวสักกะว่า  “มหาบพิตร  อาตมภาพจักไปสู่ถิ่นของมนุษย์.”  ท้าวสักกะทรงนิรมิตบันได ๓ ชนิด  คือบันไดทองคำ  บันไดแก้วมณี  บันไดเงิน.  เชิงบันไดเหล่านั้นตั้งอยู่แล้วที่ประตูสังกัสสนคร,  หัวบันไดเหล่านั้น  ตั้งอยู่แล้วที่ยอดเขาสิเนรุ.  ในบันไดเหล่านั้น  บันไดทอง  ได้มีในข้างเบื้องขวา  เพื่อพวกเทวดา,  บันไดเงิน  ได้มีในข้างเบื้องซ้าย  เพื่อมหาพรหมทั้งหลาย, บันไดแก้วมณีได้มีในท่ามกลาง  เพื่อพระตถาคต.  พระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ.  ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก  ทรงแลดูข้างบนแล้ว,  สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้วทั้งหลาย  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก;  ทรงแลดูข้างล่าง.  สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้ว  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงอเวจี;  ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียงทั้งหลาย,  จักรวาลหลายแสน  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกัน; เทวดาเห็นพวกมนุษย์,  แม้พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา. พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหมด  ต่างเห็นกันแล้วเฉพาะหน้าทีเดียว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปแล้ว.  มนุษย์ในบริษัทซึ่งมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แม้คนหนึ่ง  เมื่อแลดูสิริของพระพุทธเจ้าในวันนั้นแล้ว  ชื่อว่าไม่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า  มิได้มีเลย.  พวกเทวดาลงทางบันไดทอง,  พวกมหาพรหมลงทางบันไดเงิน;  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เสด็จลงทางบันไดแก้วมณี.  เทพบุตรนักฟ้อนชื่อปัญจสิขะ  ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมยืนอยู่ ณ ข้างเบื้องขวา  ทำบูชาด้วยการฟ้อนแด่พระศาสดาลงมา  มาตลิสังคาหกเทพบุตรยืน  ณ  ข้างเบื้องซ้าย  ถือของหอมระเบียบและดอกไม้อันเป็นทิพย์นมัสการอยู่  ทำบูชาแล้วลงมา.  ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร,  ท้าวสุยามถือพัดวาลวิชนี.  พระศาสดาเสด็จลงพร้อมด้วยบริวารนี้  หยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร.  แม้พระสารีบุตรเถระ  มาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว  เพราะพระศาสดาเสด็จลงด้วยพุทธสิริเห็นปานนั้น  อันท่านไม่เคยเห็นแล้ว  ในกาลก่อนแต่นี้,  เพราะฉะนั้น  จึงประกาศความยินดีของตน  ด้วยคาถาทั้งหลายเป็นต้นว่า:-

            “พระศาสดา  ผู้มีถ้อยคำอันไพเราะ  ทรงเป็นอาจารย์แห่งคณะ*(คณิมาคโต  ตัดบทเป็น  คณี  อาคโต. อรรถกถาว่า…คณาจริยตฺตา  คณี…)  เสด็จมาจากดุสิตอย่างนี้  เรายังไม่เห็น  หรือไม่ได้ยินต่อใคร  ในกาลก่อนแต่นี้”

               แล้วทูลว่า  “พระเจ้าข้า  วันนี้เทวดาและมนุษย์แม้ทั้งหมดย่อมกระหยิ่มปรารถนาต่อพระองค์.”

               ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสกะท่านว่า  “สารีบุตร  ชื่อว่าพระพุทธเจ้าผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณเห็นปานนี้  ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายโดยแท้.”  เมื่อจะทรงแสดงธรรม  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

                 เย  ฌานปฺปสุตา  ธีรา เนกฺขมฺมูปสเม  รตา  เทวาปิ  เตสํ  ปิหยนฺติ สมฺพุทฺธานํ  สตีมตํ.

                  “พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใด  เป็นปราชญ์  ขวนขวายในฌาน  ยินดีแล้วในธรรมที่เข้าไปสงบด้วยสามารถแห่งการออก,  แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมกระหยิ่มต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น  ผู้มีสติ.”

                        แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น  สองบทว่า  เย  ฌานปฺปสุตา  ความว่า  ประกอบแล้ว  ขวนขวายแล้วในฌาน ๒ อย่างเหล่านี้  คือ  ลักขณูปนิชฌาน  อารัมมณูปนิชฌาน  ด้วยการนึกการเข้าการอธิษฐานการออกและการพิจารณา. บรรพชา  อันผู้ศึกษาไม่พึงถือว่า  “เนกขัมมะ”  ในคำว่า  เนขมฺมูปสเมรตา  นี้,  ก็คำ  “เนกขัมมะ”  นั่น  พระองค์ตรัส  หมายเอาความยินดีในนิพพาน  อันเป็นที่เข้าไปสงบกิเลส.  บทว่า  เทวาปิ  ความว่า  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมกระหยิ่ม  คือปรารถนาต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น.

                         บทว่า  สตีมตํ  ความว่า  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าว่า  “น่าชมจริงหนอ  แม้เราพึงเป็นพระพุทธเจ้า”  ดังนี้ ชื่อว่าย่อมกระหยิ่มต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น  ผู้มีพระคุณเห็นปานนี้  ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยสติ.

                        ในกาลจบเทศนา  ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณ ๓๐ โกฏิ. ภิกษุ ๕๐๐ สัทธิวิหาริกของพระเถระ  ตั้งอยู่แล้วในพระอรหัต.สังกัสสนครเป็นที่เสด็จลงจากดาวดึงส์

                        ได้ยินว่า  การทำยมกปาฏิหาริย์แล้วจำพรรษาในเทวโลก  แล้วเสด็จลงที่ประตูสังกัสสนคร  อันพระพุทธเจ้าทุกๆ  พระองค์ไม่ทรงละแล้วแล,

                          ก็สถานที่พระบาทเบื้องขวาประดิษฐาน  ณ  ที่เสด็จลงนั้น  มีนามว่าอจลเจติยสถาน.  พระศาสดาประทับยืน  ณ  ที่นั้น  ตรัสถามปัญหาในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น,  พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ในวิสัยของตนเท่านั้น  ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระโสดาบันได้.  พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน  ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย  มีพระสกทาคามีเป็นต้น.  พระมหาสาวกที่เหลือไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ.  พระมหาโมคคัลลานะไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้.  แม้พระสารีบุตรเถระก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน.  พระศาสดาทรงแลดูทิศทั้งปวง  ตั้งต้นแต่ปาจีนทิศ.  สถานที่ทั้งปวง  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันทีเดียว,  เทวดาและมนุษย์ใน ๘ ทิศ  และเทวดาเบื้องบนจดพรหมโลก  และยักษ์นาคและสุบรรณผู้อยู่  ณ  ภาคพื้นเบื้องต่ำ  ประคองอัญชลีกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  ชื่อว่าผู้วิสัชนาปัญหานี้มิได้มีในสมาคมนี้,ขอพระองค์โปรดใคร่ครวญในสมาคมนี้ทีเดียว.”

อจลเจดีย์ ในเมืองสังกัสสะนคร สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

                        พระสารีบุตรเถระมีปัญญามาก

                        พระศาสดาทรงดำริว่า  “สารีบุตรย่อมลำบาก,  ด้วยว่า  เธอได้ฟังปัญหาที่เราถามแล้วในพุทธวิสัยนี้ว่า:-

                        “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์  เธอมีปัญญารักษาตนอันเราถามถึงความเป็นไปของท่าน  ผู้มีธรรมอันนับพร้อมแล้วทั้งหลาย  และพระเสขะทั้งหลาย  ซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้  จงบอกความเป็นไปนั้นแก่เรา” ดังนี้,  เป็นผู้หมดความสงสัยในปัญหาว่า  ‘พระศาสดาย่อมตรัสถามถึงปฏิปทาเป็นที่มา  (มรรคปฏิปทา)  ของพระเสขะและอเสขะกะเรา’  ดังนี้ก็จริง,ถึงอย่างนั้นก็ยังหวังอัธยาศัยของเราอยู่ว่า  ‘เราเมื่อกล่าวปฏิปทานี้ด้วยมุขไหนๆ  ในธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้น  จึงจักอาจถือเอาอัธยาศัยของพระศาสดาได้;’  สารีบุตรนั้นเมื่อเราไม่ให้นัย  จักไม่อาจแก้ได้,  เราจักให้นัยแก่เธอ”  เมื่อจะทรงแสดงนัย  ตรัสว่า  “สารีบุตร  เธอจงพิจารณาเห็นความเป็นจริงนี้.”  ได้ยินว่า  พระองค์ได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า “สารีบุตรเมื่อถือเอาอัธยาศัยของเราแก้  จักแก้ด้วยสามารถแห่งขันธ์” ปัญหานั้นปรากฏแก่พระเถระตั้งร้อยนัย  พันนัย  พร้อมกับการประทานนัย.ท่านตั้งอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทาน  แก้ปัญหานั้นได้แล้ว,  ได้ยินว่า คนอื่นยกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย  ชื่อว่าสามารถเพื่อจะทันปัญญาของพระสารีบุตรเถระหามิได้.  นัยว่า  เหตุนั้นแล  พระเถระจึงยืนตรงพระพักตร์พระศาสดา  บันลือสีหนาทว่า  “พระเจ้าข้า  เมื่อฝนตกแม้ตลอดกัลป์ทั้งสิ้น ข้าพระองค์ก็สามารถเพื่อจะนับ  แล้วยกขึ้นซึ่งคะแนนว่า  ‘หยาดน้ำทั้งหลายตกในมหาสมุทรเท่านี้หยาด,  ตกบนแผ่นดินเท่านี้หยาด,  บนภูเขาเท่านี้หยาด.”  แม้พระศาสดาก็ตรัสกะท่านว่า  “สารีบุตร  เราก็ทราบความที่เธอสามารถจะนับได้.”  ชื่อว่าข้ออุปมาเปรียบด้วยปัญญาของท่านนั้น  ย่อมไม่มี.  เหตุนั้นแล  ท่านจึงกราบทูลว่า:-

            “ทรายในแม่น้ำคงคา  พึงสิ้นไป  น้ำในห้วงน้ำใหญ่  พึงสิ้นไป  ดินในแผ่นดิน  พึงสิ้นไป  การแก้ปัญหาด้วยความรู้ของข้าพระองค์  ย่อมไม่สิ้นไปด้วยคะแนน.”

โฆษณา
REPORT THIS AD

             มีคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้เป็นที่พึ่งของโลก  ก็ถ้าว่า  เมื่อข้าพระองค์แก้ปัญหาข้อหนึ่งแล้ว  บุคคลพึงใส่ทรายเมล็ดหนึ่งหรือหยาดน้ำหยาดหนึ่ง  หรือดินร่วนก้อนหนึ่ง  เมื่อข้าพระองค์แก้ปัญหาร้อย   หรือพัน  หรือแสนข้อ  พึงใส่คะแนนทั้งหลายมีทรายเป็นต้น  ทีละหนึ่งๆ  ณ  ส่วนข้างหนึ่งในแม่น้ำคงคา,  คะแนนทั้งหลายมีทรายเป็นต้นในแม่น้ำคงคาเป็นต้น  พึงถึงความสิ้นไปเร็วกว่า:  การแก้ปัญหาของข้าพระองค์  ย่อมไม่สิ้นไป.”

              ภิกษุแม้มีปัญญามากอย่างนี้  ก็ยังไม่เห็นเงื่อนต้นหรือเงื่อนปลายแห่งปัญหาที่พระศาสดาถามแล้วในพุทธวิสัย  ต่อตั้งอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว  จึงแก้ปัญหาได้.  ภิกษุทั้งหลายฟังดังนั้นแล้ว  สนทนากันว่า  “แม้ชนทั้งหมด  อันพระศาสดาตรัสถามปัญหาใด  ไม่อาจแก้ได้,พระสารีบุตรเถระผู้เป็นธรรมเสนาบดีผู้เดียวเท่านั้น  แก้ปัญหานั้นได้.”  พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้วตรัสว่า  “สารีบุตรแก้ปัญหาที่มหาชนไม่สามารถจะแก้ได้  ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้;  แม้ในภพก่อน  เธอก็แก้ได้แล้วเหมือนกัน”  ดังนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมา  ตรัสชาดกนี้โดยพิสดารว่า:

            “คนที่มาประชุมกันแล้ว  แม้ตั้งพันเป็นกำหนด คนเหล่านั้นหาปัญญามิได้  พึงคร่ำครวญตั้ง ๑๐๐ ปี, บุรุษใดผู้รู้ชัดซึ่งอรรถแห่งภาษิตได้  บุรุษผู้นั้นซึ่งเป็นผู้มีปัญญาคนเดียวเท่านั้น  ประเสริฐกว่า”  ดังนี้แล.

               ในที่สุดเรื่องยมกปาฏิหาริย์ก็ขอสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

                ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

ยมกปาฏิหาริย์

                        ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์ 

                        ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคตเป็นไฉน?  ในญาณนี้พระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์ไม่ทั่วไป ด้วยพวกสาวก ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบน, สายน้ำไหล ออกแต่พระกายเบื้องล่าง; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องล่าง, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องบน; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกาย เบื้องหน้า, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหลัง; ท่อไฟพลุ่งออก แต่พระกายเบื้องหลัง, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหน้า; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระเนตร เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องซ้าย; สายน้ำไหลออกแต่พระเนตรเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา, สายน้ำ ไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณ เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออก แต่ช่องพระนาสิกเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระ- นาสิกเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา, สายน้ำไหล ออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้อง ซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ พระหัตถ์เบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่ง ออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องขวา; ท่อไฟ พลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องขวา; สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้อง ขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระบาท เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ พระบาทเบื้องขวา, ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระองคุลี, สายน้ำไหลออกแต่ ช่องพระองคุลี; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระองคุลี สายน้ำไหลออกจาก พระองคุลี; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ขุมพระโลมาขุมหนึ่งๆ, สายน้ำไหลออก แต่พระโลมาเส้นหนึ่งๆ, ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระโลมาเส้นหนึ่งๆ, สายน้ำไหลออกแต่ขุมพระโลมาขุมหนึ่งๆ. รัศมีทั้งหลายย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งสี ๖ อย่าง คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ปภัสสร; พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจงกรม, พระพุทธนิรมิตย่อมยืนหรือนั่งหรือสำเร็จ การนอน; (พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืน พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม นั่ง หรือสำเร็จการนอน, พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง พระพุทธนิรมิตย่อม จงกรม ยืนหรือสำเร็จการนอน; พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม ยืนหรือนั่ง; พระพุทธนิรมิตจงกรม, พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงยืน ประทับนั่ง หรือสำเร็จสีหไสยา; พระพุทธ- นิรมิตทรงยืน, พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงจงกรม ประทับนั่งหรือทรง สำเร็จสีหไสยา;). พระพุทธนิรมิตประทับนั่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรง จงกรม ประทับยืน หรือสำเร็จสีหไสยา พระพุทธนิรมิตสำเร็จสีหไสยา, พระผู้มีพระภาคย่อมทรงจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง. นี้เป็น ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคต.”

โฆษณา
REPORT THIS AD

                ก็พระศาสดาเสด็จจงกรมบนที่จงกรมนั้น ได้ทรงทำปาฏิหาริย์นี้ แล้ว. เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น “ท่อไฟย่อมพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบน ด้วยอำนาจเตโชกสิณสมาบัติของพระศาสดานั้น, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องล่าง ด้วยอำนาจอาโปกสิณสมาบัติ; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ที่ๆ สาย น้ำไหลออกแล้วอีก, และสายน้ำก็ไหลออกแต่ที่ๆ ท่อไฟพลุ่งออก” พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า เหฏฺฐิมกายโต อุปริมกายโต.” นัยในบท ทั้งปวงก็เช่นนี้. ก็ในยมกปาฏิหาริย์นี้ ท่อไฟมิได้เจือปนกับสายน้ำเลย, อนึ่ง สายน้ำก็มิได้เจือด้วยท่อไฟ, ก็นัยว่าท่อไฟและสายน้ำทั้งสองนี้ พลุ่งขึ้นไปตลอดถึงพรหมโลก แล้วก็ลุกลามไปที่ขอบปากจักรวาล. ก็เพราะเหตุที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า “ฉนฺนํ วณฺณานํ” พระรัศมีพรรณะ ๖ ประการของพระศาสดานั้น พลุ่งขึ้นไปจากห้องแห่งจักรวาลหนึ่ง ดุจทองคำละลายคว้าง ซึ่งกำลังไหลออกจากเบ้า และดุจสายน้ำแห่งทองคำที่ไหลออกจากทะนานยนต์ จดพรหมโลกแล้วสะท้อนกลับมาจดขอบปากจักรวาลตามเดิม. ห้องแห่งจักรวาลหนึ่ง ได้เป็นดุจเรือนต้นโพธิที่ตรึงไว้ด้วยซี่กลอนอันคด มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. ในวันนั้น พระศาสดาเสด็จจงกรมทรงทำ (ยมก) ปาฏิหาริย์แสดง ธรรมกถาแก่มหาชนในระหว่างๆ, และเมื่อทรงแสดงไม่ทรงทำให้มหาชนให้หนักใจ*(นิรสฺสาสํ ให้มีความโล่งใจออกแล้ว.) ประทานให้เบาใจยิ่ง. ในขณะนั้นมหาชนยังสาธุการให้เป็นไปแล้ว. ในเวลาที่สาธุการของมหาชนนั้นเป็นไป พระศาสดาทรงตรวจดูจิตของบริษัทซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น ได้ทรงทราบวาระจิตของคนหนึ่งๆ ด้วย. อำนาจอาการ ๑๖ อย่าง. จิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นไปเร็วอย่างนี้, บุคคลใดๆ เลื่อมใสในธรรมใด และในปาฏิหาริย์ใด, พระศาสดาทรง แสดงธรรม และได้ทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจอัธยาศัยแห่งบุคคลนั้นๆ. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม และทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอาการอย่างนี้ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่มหาชนแล้ว. ก็พระศาสดาทรงกำหนดจิตของพระองค์ ไม่ทรงเห็นคนอื่นผู้สามารถจะถามปัญหาในสมาคมนั้น จึงทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต. พระศาสดาทรงเฉลยปัญหาที่พระพุทธนิรมิตนั้นถามแล้ว. พระพุทธนิรมิตนั้นก็เฉลยปัญหาที่พระศาสดาตรัสถามแล้ว. ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจงกรม พระพุทธนิรมิตสำเร็จอิริยาบถมีการยืน เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในเวลาที่พระพุทธนิรมิตจงกรม พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงสำเร็จพระอิริยาบถ มีการประทับยืนเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวคำ เป็นต้นว่า “พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรมบ้าง” เป็นต้น. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๒๐ โกฏิในสมาคมนั้น เพราะเห็นปาฏิหาริย์ของพระศาสดา ผู้ทรงทำอยู่อย่างนั้น และเพราะได้ฟังธรรมกถา.

เนินมะม่วง (คัณฑามพพฤกษ์) สถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์สถูปบนยอดเนินมะม่วง

 

พระศาสดาเสด็จจำพรรษาชั้นดาวดึงส์

                        พระศาสดากำลังทรงทำปาฏิหาริย์อยู่นั่นแล ทรงรำพึงว่า “พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายทำปาฏิหาริย์นี้แล้ว จำพรรษาที่ไหนหนอแล ?” ทรงเห็นว่า “จำพรรษาในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระพุทธมารดา” (เป็นที่มาของการสวดพระอภิธรรมในงานศพ)  ดังนี้แล้ว ทรงยกพระบาทขวาเหยียบเหนือยอดภูเขายุคันธร ทรงยกพระบาทอีกข้างหนึ่งเหยียบเหนือยอดเขาสิเนรุ วาระที่ย่างพระบาท ๓ ก้าว ได้มีแล้วในที่ ๖๘ แสนโยชน์อย่างนี้. ช่องพระบาท ๒ ช่อง ได้ถ่างออกเช่นเดียวกันกับการย่างพระบาทตามปกติ. ใครๆ ไม่พึงกำหนดว่า “พระศาสดาทรงเหยียดพระบาทเหยียบแล้ว. เพราะในเวลาที่พระองค์ทรงยกพระบาทนั่นแหละ ภูเขาเหล่านั้นก็มาสู่ที่ใกล้พระบาทรับไว้แล้ว, ในเวลาที่พระศาสดาทรงเหยียบแล้ว ภูเขาเหล่านั้นก็ตั้งประดิษฐานในที่เดิม. ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาแล้ว ทรงดำริว่า “พระศาสดาจักทรงเข้าจำพรรษานี้ ในท่ามกลางบัณฑุกัมพลสิลา, อุปการะจักมีแก่เหล่าเทพดามากหนอ, แต่เมื่อพระศาสดาทรงจำพรรษาที่นั่น เทพดาอื่นๆ จักไม่อาจหยุดมือได้; ก็แลบัณฑุกัมพลสิลานี้ ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ แม้เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้วก็คงคล้ายกับว่างเปล่า.” พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ ทรงโยนสังฆาฏิของพระองค์ไปให้คลุมพื้นศิลาแล้ว. ท้าวสักกะทรงดำริว่า “พระศาสดาทรงโยนจีวรมาให้คลุมไว้ก่อน, ก็พระองค์จักประทับนั่งในที่นิดหน่อยด้วยพระองค์เอง.” พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ จึงประทับนั่งทำบัณฑุกัมพลสิลาไว้ภายในขนดจีวรนั่นเอง ประหนึ่งภิกษุผู้ทรงผ้ามหาบังสุกุล ทำตั่งเตี้ยไว้ภายในขนดจีวรฉะนั้น.

                       ขณะนั้นเอง แม้มหาชนแลดูพระศาสดาอยู่ก็มิได้เห็น. กาลนั้นได้เป็นประหนึ่งเวลา พระจันทร์ตก, และได้เป็นเหมือนเวลาพระอาทิตย์ตก. มหาชนคร่ำครวญกล่าวคาถานี้ว่า:- “พระศาสดาเสด็จไปสู่เขาจิตรกูฏ หรือสู่เขาไกรลาส หรือสู่เขายุคันธร, เราทั้งหลายจึงไม่เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ.” อีกพวกหนึ่งกำลังคร่ำครวญว่า “ชื่อว่าพระศาสดาทรงยินดีแล้วในวิเวก, พระองค์จักเสด็จไปสู่แคว้นอื่นหรือชนบทอื่นเสียแล้ว เพราะ ทรงละอายว่า ‘เราทำปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ แก่บริษัทเห็นปานนี้,’ บัดนี้ เราทั้งหลายคงไม่ได้เห็นพระองค์” ดังนี้ กล่าวคาถานี้ว่า:- “พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ ทรงยินดีแล้วในวิเวก จักไม่เสด็จกลับมาโลกนี้อีก, เราทั้งหลายจะไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ” ดังนี้. ชนเหล่านั้นถามพระมหาโมคคัลลานะว่า “พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ” ท่านแม้ทราบอยู่เองก็ยังกล่าวว่า “จงถามพระอนุรุทธเถิด” ด้วยมุ่งหมายว่า “คุณแม้ของสาวกอื่นๆ จงปรากฏ” ดังนี้. ชนเหล่านั้นถามพระเถระอย่างนั้นว่า “พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ.” อนุรุทธ. เสด็จไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา ในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระมารดา. มหาชน. จักเสด็จมาเมื่อไร ? ขอรับ. อนุรุทธ. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกตลอด ๓ เดือนแล้ว จักเสด็จมาในวันมหาปวารณา. ชนเหล่านั้นพูดกันว่า “พวกเราไม่ได้เห็นพระศาสดาจักไม่ไป” ดังนี้แล้ว ทำที่พักอยู่แล้วในที่นั้นนั่นเอง. ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นได้มี อากาศนั่นเอง เป็นเครื่องมุงเครื่องบัง ชื่อว่าเหงื่อที่ไหลออกจากตัวของบริษัทใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้ปรากฏแล้ว. แผ่นดินได้แหวกช่องให้แล้ว. พื้นแผ่นดินในที่ทุกแห่งได้เป็นที่สะอาดทีเดียว. พระศาสดาได้ตรัสสั่ง พระมหาโมคคัลลานะไว้ก่อนทีเดียวว่า “โมคคัลลานะ เธอพึงแสดงธรรมแก่บริษัทนั่น, จุลอนาถบิณฑิกะจักให้อาหาร.” เพราะเหตุนั้น จุลอนาถบิณฑิกะแลได้ให้แล้วซึ่งข้าวต้ม ข้าวสวย ของเคี้ยว ของหอม ระเบียบและเครื่องประดับ แก่บริษัทนั้น ทุกเวลาทั้งเช้าและเย็นตลอดไตรมาสนั้น. พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรมแล้ว วิสัชนาปัญหาที่เหล่าชนผู้มาแล้วๆ เพื่อดูปาฏิหาริย์ถามแล้ว

พระสัมพุทธเจ้าไพโรจน์ล่วงเหล่าเทวดา

                 เทวดาในหมื่นจักรวาลแวดล้อมแม้พระศาสดา  ผู้ทรงจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา เพื่อทรงแสดงอภิธรรมแก่พระมารดา เหตุนั้นพระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า:-

            “ในกาลใด พระพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดบุรุษประทับอยู่เหนือบัณฑุกัมพลสิลา ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในภพดาวดึงส์, ในกาลนั้น เทพดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุประชุมพร้อมกันแล้วเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับอยู่บนยอดเขา, เทพดาองค์ไหนๆ ก็หาไพโรจน์กว่าพระสัมพุทธเจ้าโดยวรรณะไม่, พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงปวงเทพดาทั้งหมด.”

             ก็เมื่อพระศาสดานั้น ประทับนั่งครอบงำเทพดาทุกหมู่เหล่า ด้วยรัศมีพระสรีระของพระองค์อย่างนี้ พระพุทธมารดาเสด็จมาจากวิมานชั้นดุสิต ประทับนั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวา. แม้อินทกเทพบุตร ก็มานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวาเหมือนกัน.  อังกุรเทพบุตรมานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องซ้าย. อังกุรเทพบุตรนั้น เมื่อเทพดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน ร่นออกไปแล้ว ได้โอกาสในที่มีประมาณ ๑๒ โยชน์. อินทกเทพบุตรนั่งในที่นั่นเอง. พระศาสดาทอดพระเนตรดูเทพบุตรทั้งสองนั้นแล้ว มีพระประสงค์จะยังบริษัทให้ทราบความที่ทานอันบุคคลถวายแล้วแก่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ เป็นกุศลมีผลมาก จึงตรัสอย่างนี้ว่า  “อังกุระ เธอทำแถวเตาไฟยาว ๑๒ โยชน์ให้ทานเป็นอันมาก ในกาลประมาณหมื่นปี ซึ่งเป็นระยะกาลนาน, บัดนี้เธอมาสู่สมาคมของเราได้โอกาสในที่ไกลตั้ง ๑๒ โยชน์ ซึ่งไกลกว่าเทพบุตรทั้งหมด; อะไรหนอแลเป็นเหตุในข้อนี้?”  แท้จริงพระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ก็ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า:-

            “พระสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรอังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตรแล้ว เมื่อจะทรงยกย่องทักขิไณยบุคคล ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า  ‘อังกุระ  เธอให้ทานเป็นอันมาก ในระหว่างกาลนาน, เธอเมื่อมาสู่สำนักของเรา นั่งเสียไกลลิบ.”

             พระศาสดาตรัสได้ยินถึงมนุษยโลกพระสุรเสียงนั้น (ดัง) ถึงพื้นปฐพี. บริษัททั้งหมดนั้น ได้ยินพระสุรเสียงนั้น.

             เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว อังกุรเทพบุตร อันพระศาสดาผู้มีพระองค์อันอบรมแล้วตรัสเตือนแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า:-

            “ข้าพระองค์จะต้องการอะไร ด้วยทานอันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล  ยักษ์*(เทพบุตรผู้อันบุคคลพึงบูชา.) ชื่ออินทกะนี้นั้นถวายทานแล้วนิดหน่อย ยังรุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว.”

              เมื่ออังกุรเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาตรัสกะอินทกเทพบุตรว่า  “อินทกะ เธอนั่งข้างขวาของเรา, ไฉนจึงไม่ต้องร่นออกไปนั่งเล่า?” อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยสมบัติแล้ว ดุจชาวนาหว่านพืชนิดหน่อยในนาดี”  ดังนี้แล้วเมื่อจะประกาศทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลว่า:-

            “พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ยินดี ฉันใด, ทานมากมาย อันบุคคลตั้งไว้ในหมู่ชนผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ยินดี ฉันนั้น

              เหมือนกัน;  พืชแม้เล็กน้อย อันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำถูกต้อง (ตามกาล) ผลก็ย่อมยังชาวนาให้ยินดีได้ ฉันใด, เมื่อสักการะแม้เล็กน้อยอันทายกทำแล้วในเหล่าท่านผู้มีศีล ผู้มีคุณคงที่ผลก็ย่อมยังทายกให้ยินดีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.”

               ทานที่ให้ในทักขิไณยบุคคลมีผลมาก

               ถามว่า  “ก็บุรพกรรมของอินทกเทพบุตรนั้น  เป็นอย่างไร ?” แก้ว่า  “ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นได้ให้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งที่เขานำมาแล้วเพื่อตน แก่พระอนุรุทธเถระผู้เข้าไปบิณฑบาตภายในบ้าน.บุญของเธอนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร ทำแถวเตาไฟยาวตั้ง ๑๒ โยชน์ ให้แล้วตั้งหมื่นปี, เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลอย่างนั้น.”  เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาตรัสว่า “อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร, ทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้ ดุจพืชที่เขาหว่านดีในนาดีฉะนั้น; แต่เธอหาได้ทำอย่างนั้นไม่,เหตุนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก” เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งจึงตรัสว่า:-

            “ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก, บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตนั้น; การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว,  ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์ที่ยังเป็นอยู่นี้ มีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านแล้วในนาดีฉะนั้น.”

              เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป  ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

            “นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีราคะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะเหตุนั้นแลทานที่บุคคลให้แล้ว  ในท่านที่มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะเหตุนั้นแล  ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโทสะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย  หมู่สัตว์นี้มีโมหะเป็นเครื่องประทุษร้าย,  เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโมหะไปปราศแล้วทั้งหลาย  จึงมีผลมาก.  นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย, หมู่สัตว์นี้มีความอยากเป็นเครื่องประทุษร้าย  เพราะเหตุนั้นแล  ทานที่บุคคลให้แล้ว  ในท่านผู้มีความอยากไปปราศแล้วทั้งหลาย  จึงมีผลมาก.”

                ในกาลจบเทศนา อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.  (ธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว).

                พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระมารดาชั้นดาวดึงส์

                 ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า  “กุสลา  ธมฺมา,  อกุสลา  ธมฺมา, อพฺยากตา  ธมฺมา”  ดังนี้เป็นต้น. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้เรื่อยไปตลอด ๓ เดือน.  ก็แลทรงแสดงธรรมอยู่  ในเวลาภิกษาจารทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต ด้วยทรงอธิษฐานว่า “พุทธนิรมิตนี้จงแสดงธรรมชื่อเท่านี้ จนกว่าเราจะมา”  แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลตา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ได้ประทับนั่งทำภัตกิจในโรงกว้างใหญ่แล้ว. พระสารีบุตรเถระไปทำวัตรแด่พระศาสดาในที่นั้น. พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว  ตรัสแก่พระเถระว่า  “สารีบุตร วันนี้เราภาษิตธรรมชื่อเท่านี้,  เธอจงบอกแก่ (ภิกษุ ๕๐๐) นิสิตของตน.”  ได้ทราบว่า กุลบุตร ๕๐๐ เลื่อมใสยมกปาฏิหาริย์ บวชแล้วในสำนักของพระเถระ. พระศาสดาตรัสแล้วอย่างนั้นทรงหมายเอาภิกษุเหล่านั้น. ก็แลครั้นตรัสแล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเองต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง. แม้พระเถระก็ไปแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น.  ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลกนั้นแล  ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ แล้ว.

                ได้ยินว่า  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวหนู ห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง เมื่อพระเถระ ๒ รูป จงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่, ได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว, ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่า  “เหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์, เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ”  ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น จุติจากอัตภาพนั้น แล้วเกิดในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง  จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดในเรือนตระกูลในกรุงสาวัตถี เกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ บวชในสำนักของพระเถระแล้ว  ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง.  แม้พระศาสดาก็ทรงแสดงอภิธรรมโดยทำนองนั้นแล  ตลอด ๓ เดือนนั้น.

                ในกาลจบเทศนา  ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดา ๘ หมื่นโกฏิ.  แม้พระมหามายาก็ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.

                พระโมคคัลลานเถระขึ้นไปทูลถามข่าวเสด็จลง

                  บริษัทมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์  แม้นั้นแล  คิดว่า  “แต่บัดนี้ไปในวันที่ ๗ จักเป็นวันมหาปวารณา”  แล้วเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ  กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ควรจะทราบวันเสด็จลงของพระศาสดา,เพราะข้าพเจ้าทั้งหลาย ไม่เห็นพระศาสดาแล้ว จักไม่ไป.”  ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ฟังถ้อยคำนั้นแล้วรับว่า  “ดีละ”  แล้วดำลงในแผ่นดินตรงนั้นเอง อธิษฐานว่า  “บริษัทจงเห็นเรา ผู้ไปถึงเชิงเขาสิเนรุแล้วขึ้นไปอยู่” มีรูปปรากฏดุจด้ายกัมพลเหลืองที่ร้อยไว้ในแก้วมณีเทียว ขึ้นไปแล้วโดยท่ามกลางเขาสิเนรุ. แม้พวกมนุษย์ก็แลเห็นท่านว่า “ขึ้นไปแล้ว ๑ โยชน์ ขึ้นไปแล้ว ๒ โยชน์”  เป็นต้น,  แม้พระเถระขึ้นไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระศาสดา ดุจเทินไว้ด้วยเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า  “พระเจ้าข้า บริษัทประสงค์จะเฝ้าพระองค์ก่อนแล้วไป, พระองค์จักเสด็จลงเมื่อไร ?”

                  พระศาสดา.  โมคคัลลานะ ก็สารีบุตร พี่ของเธอ อยู่ที่ไหน.

                  โมคคัลลานะ  พระเจ้าข้า ท่านจำพรรษาอยู่ในสังกัสสนคร.

                  พระศาสดา. โมคคัลลานะ ในวันที่ ๗ แต่วันนี้  (ไป) เราจักลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ ในวันมหาปวารณา,  ผู้ใคร่จะพบเราก็จงไปที่นั้นเถิด; ก็แลสังกัสสนครจากกรุงสาวัตถี มีประมาณ ๓๐ โยชน์, ในทางเท่านั้น กิจที่จะต้องเตรียมเสบียง ย่อมไม่มีแก่ใครๆ,  เธอพึงบอกแก่คนเหล่านั้นว่า  ‘ท่านทั้งหลาย   จงเป็นผู้รักษาอุโบสถไป  ดุจไปสู่วิหารใกล้เพื่อฟังธรรมเถิด.