วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ความจริงที่น่ารู้อย่างยิ่งในเวทนา



22 กุมภาพันธ์ 2016
ความจริงที่น่ารู้อย่างยิ่งในเวทนา
คลิกขวาเมนู
หลักการปฏิบัติในเวทนา
สุขเวทนา มีอยู่ แต่ไม่ติดเพลิน ไม่พูดถึง ด้วยอุเบกขา
ทุกขเวทนา มีอยู่ แต่ไม่พิรี้พิไร ไม่รำพัน ไม่โอดครวญ ด้วยอุเบกขา
อทุกขมสุข มีอยู่ แต่ไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ด้วยอุเบกขา
(ฉฉักกสูตร เล่มที่๑๔ ข้อที่๘๒๓)
เวทนา การเสวยอารมณ์, การเสพรสชาดของอารมณ์ที่ผัสสะ, ความรู้สึก(Feeling)เป็นสุขคือถูกใจ ชอบใจ สบายใจสบายกาย, ทุกข์คือไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ ไม่สบายใจไม่สบายกาย, หรือไม่สุขไม่ทุกข์คือเฉยๆ ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ที่ผัสสะ คำจำกัดความต่างๆเหล่านี้ล้วนมีความหมายเดียวกันว่า ความรู้สึก(Feeling)เป็นสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ที่ย่อมต้องเกิดขึ้น จากการรับรู้(ผัสสะ)ในอารมณ์นั้นๆ อันเป็นธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่งเป็นธรรมดา
ทุกขเวทนา เป็นเวทนาที่ต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่งยวดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับความทุกข์โดยตรง ทุกขเวทนากล่าวได้ว่าเป็นทุกข์ธรรมชาติ คือเป็นทุกข์ที่ทุกบุคคลเขาเรา ทุกรูปนาม ต้องเกิด ต้องเป็น เช่นนั้นเอง เพราะความจริงแล้วทุกขเวทนา เป็นกระบวนธรรมของการรับรู้ของผู้มีชีวิตที่เกิดขึ้นจากอายตนะภายในทั้ง๖ เกิดการผัสสะกับเหล่าอายตนะภายนอกทั้ง๖ จึงเป็นเรื่องของธรรมคือธรรมชาติ ที่ต้องเกิดการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดจากการกระทบสัมผัสกับสิ่งต่างๆนั่นเอง ซึ่งในการกระทบสัมผัสคือผัสสะ ย่อมต้องเกิดเวทนาอันใดอันหนึ่งขึ้น กล่าวคือ สุขเวทนาบ้าง๑ ทุกขเวทนาบ้าง๑ อทุกขมสุขเวทนาคือไม่สุขไม่ทุกข์เป็นกลาง๑ อย่างใดอย่างหนึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดังที่ได้กล่าวโดยละเอียดแล้วในขันธ์๕
ทุกขเวทนานั้นโดยธรรมหรือโดยธรรมชาติของปุถุชนแล้ว เมื่อเกิดขึ้น ก็จะเกิดการผลักไสหรือวิภวตัณหาขึ้น กล่าวคือเมื่อเกิดการผัสสะให้เป็นทุกข์ด้วยอำนาจของทุกขเวทนาที่เป็นไปโดยธรรมชาติแล้ว ก็มักเกิดความไม่พอใจ ไม่ถูกใจในทุกขเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งโดยไม่รู้และสติไม่เท่าทันว่า สักเป็นเพียงกระบวนธรรมของชีวิตที่ต้องเกิดอย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่ใช่ทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อนเผาลนด้วยเวทนูปาทานขันธ์หรือทุกขอุปาทานคือความทุกข์ที่ประกอบด้วยอำนาจของอุปาทาน แต่เพราะความไม่รู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งที่พร้อมทั้งสติไม่เท่าทัน เมื่อเกิดทุกขเวทนาขึ้น ก็เกิดอาการดิ้นรนคือผลักไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้เป็นไป ทุกขเวทนาโดยธรรมชาติที่แม้เป็นทุกข์แต่ไม่เร่าร้อนรุนแรงนั้นก็ย่อมสามารถแปรไปเป็นทุกข์อุปาทานที่มีเวทนูปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเผาลนรุนแรงได้ โดยไม่รู้ตัว
เวทนาไม่เป็นอัตตา ที่หมายถึง เวทนาไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ของตัวตนหรือของใครๆ, แต่เวทนาเป็นอนัตตา เวทนาจึงควบคุมบังคับด้วยอัตตาหรือตัวตนเองไม่ได้อย่างแท้จริง เพราะเวทนาทั้งปวงล้วนต้องเกิดขึ้น และต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรืออิงอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้ กล่าวคือ
อายตนะภายนอก กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป อายตนะภายใน การกระทบกันของปัจจัยทั้ง๒ ย่อมเกิด วิญญาณ๖ การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี สัญญา เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตา
หรือเขียนอย่างย่นย่อที่สุด ที่ละสัญญาไว้ ดังที่มักกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่นำมาเขียนในรูปแบบกระบวนธรรม ก็จักได้ดังนี้
อายตนะภายนอก กระทบกัน เช่น ตาเห็นรูป อายตนะภายใน การกระทบกันของปัจจัยทั้ง๒ ย่อมเกิด วิญญาณ๖ การประจวบกันของปัจจัยทั้ง ๓ ข้างต้น เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข, ทุกข์, อทุกขมสุข(ไม่สุขไม่ทุกข์) อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตา
เวทนา จึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุอันคือสิ่งดังกล่าวข้างต้น ที่มาเป็นปัจจัยกัน กล่าวคือปรุงแต่งกัน จึงย่อมต้องเป็นสังขารในธรรมนิยาม(พระไตรลักษณ์) อันย่อมมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสามัญญลักษณะของสังขารทั้งปวง, เวทนาจึงย่อมไม่ได้ขึ้นกับอัตตาหรือตัวตนดังความเข้าใจกันโดยไม่รู้ตัวหรือผิวเผินทั่วไป เวทนาไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตัวตน แต่ด้วยความไม่รู้ด้วยอวิชชาแต่ทารก จึงมักเข้าไปหลงยึดเอาเวทนาความรู้สึกสุขทุกข์หรือเวทนาว่าเป็นสมบัติของตัวตนหรือเราอยู่เสมอๆ โดยไม่รู้ตัวว่า เราสุข เราทุกข์ จึงเกิดการสั่งสมนอนเนื่องในสันดานมาช้านาน ไม่รู้ว่าสักกี่ภพกี่ชาติมาแล้วนั้น (ถ้าพิจารณาโดยโลกุตตระให้พิจารณาภพชาติในปฏิจจสมุปบาทธรรม) หรือก็คือการเกิดขึ้นของกิเลสอันคือตัณหาต่อเหล่าเวทนาความรู้สึกสุขทุกข์นั่นเอง
เวทนา มี ๓ คือ สุขเวทนาที่ครอบคลุมทั้งทางใจหรือกาย๑ ทุกขเวทนาทั้งทางใจหรือกาย๑ อทุกขมสุขเวทนาไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆ๑ แต่อรรถกถาในพระไตรปิฎก ก็มีการจำแนกแตกละเอียดขึ้นโดยพระอรรถกถาจารย์ ในภายหลังๆ คือ แบ่งเวทนาออกเป็นฝ่ายจิตและฝ่ายกาย จึงแบ่งออกได้เป็น ๕ อันมี สุข-สบายกาย๑ ทุกข์-ไม่สบายกาย๑ โสมนัส-สบายใจ๑ โทมนัส-ไม่สบายใจ๑ อุเบกขา-เฉยๆ๑ รวมเป็น ๕
พระองค์ท่านได้ตรัสไว้เป็นอเนกว่า เวทนาทั้งปวง เพราะมีความไม่เที่ยงทรงตัวอยู่ไม่ได้ จึงล้วนไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าแสวงหา, เมื่อนำมาโยนิโสมนสิการ ย่อมแลเห็นความเกิดขึ้นแลเป็นไปในเหล่าเวทนาทั้งปวงว่า ล้วนเกิดขึ้นและเป็นไปดังนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ เมื่อไม่รู้ด้วยอวิชชา,ทั้งไม่มีสติเท่าทัน จึงพากันไปติดเพลินหมกมุ่น จึงเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏหรือกองทุกข์อยู่อย่างนี้ทุกภพทุกชาติไป จึงควรหมั่นพิจารณาในเวทนาต่างๆโดยอาการดังนี้ อยู่เนืองๆ อยู่เสมอๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจจนเกิดนิพพิทาญาณต่อเวทนาต่างๆที่เกิดดับๆๆ..อยู่ตลอดเวลาและเป็นไปโดยธรรมคือธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เมื่อปล่อยวางจากเวทนา ตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้นจากเวทนานั้น อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม, ดังนั้นจึงควรพิจารณาและแลเห็นอยู่เนืองๆในเหล่าเวทนาที่เกิดขึ้นว่าเป็นไปดังนี้
สุขเวทนา หรือสุข โดยความเป็นทุกข์
ทุกขเวทนา หรือทุกข์ โดยความเป็นลูกศร
อทุกขมสุขเวทนา หรือเฉยๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง
(ทัฏฐัพพสูตร เล่มที่๑๘ ข้อที่๓๖๗)
ล้วนเพื่อนิพพิทา เพื่อการปล่อยวางเวทนา
โยนิโสมนสิการด้วยความเพียรยิ่งให้เกิดธรรมสามัคคีหรือมรรคสามัคคี จนเกิดนิพพิทาญาณต่อเหล่าเวทนา กล่าวคือเกิดความหน่ายในเวทนาจากการรู้ความจริงในเวทนา ย่อมเป็นปัจจัยให้คลายกำหนัด หรือการดับตัณหานั่นเอง อันเป็นการตัดทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทลงไปเสียนั่นเอง
สุขเวทนา หรือสุข โดยความเป็นทุกข์ แม้เพลิดเพลินเป็นสุข หรือแม้แต่สุขยิ่งๆก็จริงอยู่ แต่ด้วยอนัตตาจึงควบคุมบังคับบัญชาให้คงอยู่,เป็นไปไม่ได้ เป็นของไม่เที่ยงด้วยอนิจจัง จึงต้องทุกขังดับไป แต่ด้วยสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิต ที่เมื่อชรา-มรณะย่อมมีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส หรืออาสวะกิเลสนอนเนื่อง อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม ซึ่งก็คืออาสวะกิเลสนั่นเองที่จักย่อมผุดขึ้นมาซึมซาบย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์มาเร้าในภายหน้าให้เกิดสังขารความคิดคำนึงให้เกิดการโหยไห้อาลัยหา จนกำเริบเสิบสานเป็นทุกข์อันเผาลนใจหรือเจ็บดั่งต้องศรขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอนเป็นที่สุด เป็นธรรมดาหรือตถตา ด้วยเหตุนี้นี่เอง สุขเวทนา หรือสุข โดยมีความเป็นทุกข์ที่แฝงอยู่ สุขเวทนาจึงไม่น่าติดเพลิน ไม่หมกใจอยาก ไม่หมกมุ่น
ทุกขเวทนา หรือทุกข์ โดยความเป็นลูกศร ว่าเจ็บดั่งต้องศร แต่ก็ต้องมีความเข้าใจว่า มันเป็นเช่นนี้เอง เป็นธรรมโดยแท้ เป็นอนัตตาจึงไม่ใช่เรา,ไม่ใช่ของเราแท้จริงเพราะไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ จึงอย่าไปเกิดตัณหาหรือวิภวตัณหาในทุกขเวทนานั้น ให้กลายเป็นเวทนูปาทานขันธ์อันแสนเร่าร้อนเผาลนกระวนกระวายยิ่งกว่ามากนัก ด้วยอุปาทานที่เข้าร่วมครอบงำโดยไม่รู้ตัว, แล้วแม้จะไม่เที่ยงด้วยอนิจจังจึงต้องทุกขังดับไป เช่นสังขารทั้งปวงก็จริงอยู่แต่เร่าร้อนไม่ทันใจ และเพราะความที่ต้องสั่งสมเป็นอาสวะกิเลส จึงสั่งสมแล้วกำเริบเสิบสานโดยอาการผัสสะหรือพิรี้พิไรรำพันหรือโดยธรรม ให้เป็นทุกข์ดุจศร ที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงอยู่เสมอๆ จึงย่อมเวียนว่ายตายเกิดในกองทุกข์ ถูกทิ่มแทงเผาลนอยู่เสมอๆ ทุกขเวทนา หรือทุกข์ โดยความเป็นลูกศร ที่เจ็บปวด จึงต้องมีสติรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าไปปรุงแต่งด้วยรู้ว่ามันเป็นเช่นนี้เอง ไม่โอดครวญ ครํ่าครวญ พิรี้พิไร รำพัน อันเป็นหลักปฏิบัติโดยตรงต่อทุกข์หรือทุกขเวทนาดังแสดงในฉฉักกสูตรนั่นเอง
อทุกขมสุขเวทนา หรือเฉยๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยละเอียดอ่อนนอนเนื่องและด้วยอวิชชาจึงยิ่งไม่รู้ว่า ด้วยอนิจจังอันไม่เที่ยง จึงแปรปรวนเผลอจิตไปปรุงแต่งจนเป็นสุขหรือทุกขเวทนาในที่สุด จึงต้องเป็นทุกข์อันเผาลนหรือเจ็บปวดดั่งต้องศรเป็นที่สุดเช่นกัน อทุกขมสุขเวทนา หรือเฉยๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงแปรปรวนมาทิ่มแทงเป็นที่สุด
สภาวะของเวทนาต่างๆ โดยอาการดังที่กล่าวข้างต้น ดังเช่น สุขเวทนาหรือสุข โดยความเป็นทุกข์ ให้พิจารณาอยู่เนืองๆ หรือคิดนึกเห็นอยู่เนืองๆจนกว่าจะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหรือธรรมสามัคคี หรือแม้แต่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ตามทีเพราะความที่เป็นเวทนานุปัสสนาอันดีงามแบบหนึ่งนั่นเองที่สามารถยังให้เกิดนิพพิทาญาณขึ้นได้ ที่แสดงว่า ความสุขทั้งหลายหรือสุขเวทนา(ทางโลก) ล้วนมีอาการของความทุกข์แฝงตัวอยู่ตลอดเวลาเสมอ เป็นของคู่กันโดยธรรมหรือธรรมชาติ เป็นไปดังที่กล่าวนี้จริงโดยการเจริญวิปัสสนา ใช้การโยนิโสมนสิการในปฏิจจสมุปบาทธรรมในองค์ธรรมชรา-มรณะ พร้อมด้วยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปาทายาส กล่าวคือ พิจารณาว่าเมื่อเกิดสุขทุกข์ต่างๆแล้ว ก็ย่อมต้องชราคือเปลี่ยนแปลงคือแปรปรวนไปมา แล้วย่อมต้องมรณะดับไปพร้อมกับการสั่งสมเป็นอาสวะกิเลสในรูปแบบต่างๆข้างต้นเป็นธรรมดาหรือตถตา, ที่เมื่อผุดขึ้นมาด้วยเหตุอันใดก็ดีในภายหน้า ที่ย่อมต้องร่วมกับองค์ธรรมอวิชชา แล้วย่อมกำเริบเสิบสานเป็นองค์ธรรมสังขารที่ย่อมเจือกิเลสที่นอนเนื่อง เพื่อภพชาติหน้าอันเป็นทุกข์ อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม
ก็เป็นสุขอยู่ จะเสพความสุขเสียก่อน แล้วมีปัญหาได้อย่างไร? แล้วมากล่าวว่า มีทุกข์แอบแฝงอยู่ได้อย่างไร? ก็แลดูว่าเป็นแค่สุขธรรมดาๆนี่เอง
เพราะย่อมต้องเกิดทุกข์ขึ้นจากสุขเหล่านี้ ในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน เพราะโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ด้วยอาการของปฎิจจสมุปบาทธรรมดังนี้
๑.ทุกข์ เกิดขึ้นจากการที่ต้องขวนขวายแสวงหามาปรนเปรออีก ในภายหน้านั่นไง! ดังเช่น อาหารอร่อยๆ,เสื้อผ้าใหม่,รถใหม่,หน้าที่การงานให้ก้าวไปอีก ฯ. !
๒.ทุกข์ เกิดขึ้นจากการต้องบำรุงดูแล,ต้องรักษาสุขนั้นๆให้คงอยู่ในสภาพ ในภายหน้า! บุตร,ทรัพย์สมบัติ,คนรัก,บ้าน,รถ,ตำแหน่ง,หน้าที่การงาน ฯ. !
๓.ทุกข์ อันเกิดจากความไม่สมปรารถนาดังเดิมได้อีกเมื่อใด ก็ย่อมแปรไปเป็นทุกข์อันเร่าร้อนเผาลน ได้ในภายหน้า! ครานี้ทำไมไม่เป็นดังนั้น,ครานั้นเป็นอย่างนี้,ทำไม,อย่างไร,ต้องอย่างนี้อย่างนั้น ฯ. !
หรือจากการพิจารณาเวทนาในพระไตรลักษณ์ดังแสดงไว้โดยอเนก ที่มีเจตนาเพื่อนิพพิทาญาณว่า เวทนาไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา จึงควรเห็นด้วยสัมมาญาณว่า สุขหรือทุกข์นั่นก็ไม่ใช่ของเรา สุขหรือทุกข์นั่นก็ไม่ใช่เป็นเรา สุขหรือทุกข์ไม่ใช่อัตตาตัวตนเรา.
หรือแม้แต่ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทธรรมหรือพระไตรลักษณ์ จนเกิดความเห็นแจ้งจนเกิดนิพพิทา เห็นจริงดังที่ท่านวชิราภิกษณี ได้กล่าวไว้
ความจริงทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น จึงมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่ดับเสื่อมไป
ดังนั้น นอกจากทุกข์แล้ว จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อีก, นอกจากทุกข์แล้ว จึงไม่มีอะไรดับ.
(ท่านวชิราภิกษุณี ได้กล่าวกะมารผู้มีบาปใน วชิราสูตร ไว้ในลักษณะนี้)
จึงสามารถใช้ธรรมต่างๆเหล่านี้เป็นเครื่องเจริญวิปัสสนา ดังเช่น ปฏิจจสมุปบาทธรรม ขันธ์ ๕ พระไตรลักษณ์ ฯลฯ. เมื่อเกิดธรรมสามัคคีก็ย่อมเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งในที่สุดด้วยตนเองว่า เวทนาทั้งปวงล้วนเป็นไปดังที่กล่าวข้างต้นนั้นจริงๆ จึงมิใช่เป็นไปโดยสักแต่ว่าตามคัมภีร์,ตำรา หรือสักแต่ว่าพูดๆกันไปเท่านั้น
เมื่อเห็นดังนี้ได้แจ่มแจ้ง ย่อมเกิดนิพพิทาญาณความหน่ายเป็นที่สุด เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯลฯ. จึงย่อมไม่ควรเห็นว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน เป็นของตน จึงย่อมคลายความกำหนัดหรือคลายตัณหา ตามควรแห่งฐานะของตน จนถึงดับสนิทแห่งทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง.
จึงควรมีสติอยู่เนืองๆ ประกอบอีกด้วยว่า
เวทนาเป็นอนัตตา จึงควรเห็นด้วยสัมมาปัญญาว่า "นั้นก็ไม่ใช่ของเรา นั่นก็ไม่ใช่เป็นเรา นั่นก็ไม่ไช่อัตตาตัวตนเรา"
พระอริยเจ้าจึงรู้ว่า เมื่อมีชีวิตอยู่ เวทนาทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่าแสวงหา
เวทนาย่อมไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา (เวทนาปริคคหสูตร)
ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว ฯ (เคลัญญสูตร)
พระสารีบุตร ท่านได้ฟังธรรม ในลักษณะดังกล่าวนี้ใน เวทนาปริคคหสูตร ก็พลันบรรลุพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์โดยพลัน
พระอริยเจ้า จึงล้วนมีความหน่ายจากนิพพิทาญาณต่อเหล่าเวทนาอันไม่เที่ยงเหล่านี้
จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นเวทนาที่ล้วนไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี ไม่น่าหมกมุ่น ดังเหตุข้างต้นนี้
จึงปล่อยวาง ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเวทนาทั้งปวง
สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ต้องดับไป แต่อยากให้คงอยู่นานๆ หรือไม่ดับไป ก็เป็นทุกข์
ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง แม้ต้องดับไป แต่อยากให้ดับไปเร็วๆขึ้นอีก หรือไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย ก็เป็นทุกข์
อทุกขมสุขเวทนา ด้วยไม่รู้ จึงปล่อยให้ปรุงแต่ง เกิดๆดับๆ ด้วยอวิชชา จึงเป็นทุกข์ในที่สุด
เวทนาสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น