วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

อริยสาวกสูตรที่ ๑

อริยสาวกสูตรที่ ๑
๙. อริยสาวกสูตรที่ ๑
[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ...
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับมิได้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรมี อะไรจึงมีหรือหนอแล เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น, เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี, เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี, เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี, เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี, เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี, เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี, เมื่ออะไรมี ภพจึงมี, เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี, เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ฯ
[๑๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมี, เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี, เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี, เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี, เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี, เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี, เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี, เมื่อภพมี ชาติจึงมี, เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี, อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลก(หมายถึงทุกข์)นี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯ
[๑๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมไม่มีความสงสัยอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรไม่มี อะไรจึงไม่มีหรือหนอแล เพราะอะไรดับ อะไรจึงดับ เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ฯ
[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ฯลฯ อุปาทานจึงไม่มี ... ภพจึงไม่มี ... ชาติจึงไม่มี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลก(หมายถึงทุกข์)นี้ย่อมดับอย่างนี้ ฯ
[๑๘๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล อริยสาวกรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและความดับไปแห่งโลก(หมายถึงทุกข์)ตามเป็นจริงอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะบ้าง เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ฯ
จบสูตรที่ ๙
๑๐. อริยสาวกสูตรที่ ๒
(เหมือนอริยสาวกสูตรที่ ๑ เพียงแต่กล่าวเริ่มต้นแสดงที่ อวิชชา)
[๑๘๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ...
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับมิได้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า เมื่ออะไรมี อะไรจึงมีหรือหนอแล เพราะอะไรเกิดขึ้น อะไรจึงเกิดขึ้น เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ฯ
[๑๘๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมมีญาณ หยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมี เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯ
[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับย่อมไม่มีความสงสัยอย่าง นี้ว่า เมื่ออะไรไม่มี อะไรจึงไม่มีหรือหนอแล เพราะอะไรดับ อะไรจึงดับ เมื่อ อะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี นาม รูปจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เมื่อ อะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี ฯลฯ อุปาทาน ... ภพ ... ชาติ ... เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ฯ
[๑๘๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ อริยสาวกผู้สดับย่อมมีญาณหยั่งรู้ ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่ง นี้จึงดับ เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เมื่อ วิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ฯลฯ เมื่อชาติ ไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี อริยสาวกนั้นย่อมรู้ประจักษ์อย่างนี้ว่า โลกนี้ย่อมดับ อย่างนี้ ฯ
[๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล อริยสาวกรู้ทั่วถึงทั้งเหตุเกิด และความดับไปแห่งโลกตามเป็นจริงอย่างนี้ ในกาลนั้น อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฐิบ้าง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทัศนะบ้าง เป็นผู้มาถึงสัทธรรมนี้บ้าง เห็นสัทธรรมนี้บ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยญาณอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วย วิชชาอันเป็นเสขะบ้าง เป็นผู้บรรลุกระแสแห่งธรรมบ้าง เป็นพระอริยะมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสบ้าง ว่าอยู่ชิดประตูอมตนิพพานบ้าง ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
๑. ปริวีมังสนสูตร
[๑๘๘] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ภิกษุเมื่อพิจารณา พึงพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มี พระภาคเป็นที่ตั้ง มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมาย เกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอแล เมื่ออะไรมี ชราและมรณะ(ทุกข์)จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะ(ทุกข์)จึงไม่มี
ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า ทุกข์คือชราและมรณะ มีประการต่างๆ มากมาย เกิดขึ้นในโลก ทุกข์นี้แลมีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นสมุทัย มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ และย่อมเป็นผู้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชราและมรณะ ฯ (พึงพิจารณาในปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นสำคัญ)
[๑๙๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ก็ชาตินี้มี อะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประ จักษ์ว่า ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นสมุทัย มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด เมื่อภพมี ชาติจึงมี เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชาติ ย่อมรู้ ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชาติ ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทา อันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติ ธรรมอันสมควร ภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดย ประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชาติ ฯ
[๑๙๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า ก็ภพนี้มี อะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็สฬายตนะนี้มีอะไร เป็นเหตุ ฯลฯ ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ ก็สังขารนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดน เกิด เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี
ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา ย่อมรู้ประจักษ์ว่า สังขารมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็น กำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด เมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สังขาร ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งสังขาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย (ดังนั้นเมื่อ)บุคคลตกอยู่ในอวิชชา(แล้ว)ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา(คือ เกิดรูปภพ อรูปภพ ทั้งหลายในภพของปฏิจจสมุปบาทธรรม) ฯ
[๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำ เมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ภิกษุนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา
(แต่)ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา
(และ)ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าอทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา,
(กล่าวคือ)ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต(จึงหมายถึงภาวะสอุปาทิเสสนิพพานธาตุของพระอรหันต์ผู้ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตอยู่) (และ)รู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้วจักเป็นของเย็น (เมื่อ)สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น(ใน)เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฯ (จึงหมายถึงภาวะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุของพระอรหันต์ผู้ดับขันธ์ หรือสิ้นชีวิตแล้ว)
[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตาเผาหม้อ วางไว้ที่พื้นดินอันเรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึง(ย่อม)หายไป (มีแต่)หม้อกระเบื้องยังเหลืออยู่ที่พื้นดินนั้นนั่นแหละ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น(เหมือนดังหม้อ)เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุผู้ขีณาสพ พึงทำกรรมเป็นบุญบ้าง ทำกรรมเป็นบาปบ้าง ทำกรรมเป็นอเนญชาบ้าง หรือหนอ ฯ
ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (กล่าวคือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกรรมทั้ง ในดี ในชั่ว แม้ในสุขแต่ฌานสมาธิ ที่หมายถึง ไม่ยึดมั่นยึดถือแม้ดีชั่ว บุญบาป ฌานสมาธิ)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังขารไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสังขารดับ วิญญาณพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เพราะสังขารไม่มี วิญญาณย่อมไม่ปรากฏขึ้นมา รู้แจ้ง ในสังขารนั้นๆ)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิญญาณไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะวิญญาณดับ นามรูปพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. (เพราะวิญญาณดับ นามรูปหรือชีวิตจึงยังไม่ครบองค์ของชีวิต จึง)ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะนามรูปดับ สฬายตนะพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เพราะนามรูปยังดับอยู่ สฬายตนะจึงย่อมยังไม่ตื่นตัวขึ้นทำหน้าที่ของตน)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสฬายตนะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ สฬายตนะดับ ผัสสะพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เพราะสฬายตนะดับอยู่ จึงย่อมไม่ครบองค์ของการผัสสะ)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับ เวทนาพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่อผัสสะไม่เกิดขึ้น เวทนาย่อมไม่เกิดขึ้น)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับ ตัณหาพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่อเวทนาไม่มี จะไปมีตัณหาในสิ่งใด!)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับ อุปาทานพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่อตัณหาไม่มีหรือดับ จะไปเกิดอุปาทานความยึดมั่นด้วยกิเลสเพื่อตน ในสิ่งใด!)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทาน ดับ ภพพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่ออุปาทานไม่มีหรือเกิดขึ้น จะเกิดภพหรือที่อยู่ของจิตได้อย่างไร!)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับ ชาติ พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่อไม่มีภพที่อยู่อาศัยแล้ว จะมีการเกิด[ชาติ]ขึ้นได้อย่างไร)
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับ ชราและมรณะพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ (เมื่อไม่มีการเกิดหรือชาติปรากฏขึ้นแล้ว จะมีการแปรปรวนและดับไปได้อย่างไร)
[๑๙๕] ดีละๆ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสำคัญ จงเชื่อซึ่งข้อนั้นไว้ อย่างนั้นเถิด
พวกเธอจงน้อมใจไปสู่ข้อนั้นอย่างนั้นเถิด จงหมดความเคลือบแคลง สงสัยในข้อนั้นเถิด นั่นเป็นที่สุดทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๑
๒. อุปาทานสูตร
[๑๙๖] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ...
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะ อุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ (เป็นการดำเนินไปในปฏิจจสมุปบาทธรรม)
[๑๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบ เล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษใส่หญ้าแห้ง ใส่โคมัยแห้ง และใส่ไม้แห้ง ในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๑๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับไป เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและ มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
[๑๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบ เล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษ ไม่ใส่หญ้าแห้ง ไม่ใส่โคมัยแห้ง และไม่ใส่ไม้แห่งในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะ ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น ไม่มีอาหาร พึงดับไป เพราะ สิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเห็น โทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ
จบสูตรที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น