จิตคือธาตุรู้ ไม่เคยดับตายหายสูญ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์

🌷 อ.ไชยทรง จันทรอารีย์ ผู้เรียบเรียงหนังสือ ธรรมประทีป ๙

ท่านอาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมท่านหนึ่ง หลังเกษียณ ท่านได้ทุ่มเทกับงานเผยแพร่ธรรมะมาโดยตลอด เป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายใดๆ และจัดพิมพ์หนังสือธรรมประทีป ธรรมะภาคปฏิบัติ ไปแจกผู้เข้าร่วมอบรมเสมอ

ท่านอาจารย์ได้เขียนหนังสือธรรมประทีป และหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ หลายเล่มทีเดียว แต่ละเล่มพิมพ์แจกไปยังวัด หอสมุด ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา จะมีผู้สนใจอ่านแล้วได้รับประโยชน์ เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เขียนจดหมายขอหนังสือของท่านอาจารย์เข้ามาเป็นระยะๆ หลายคนจดหมายมาขอบคุณที่ทำให้เขามีหลักในการปฏิบัติธรรม

ข้าพเจ้าค่อนข้างโชคดีที่มีหนังสือของท่านอาจารย์เกือบทุกเล่ม เนื้อหาแต่ละเล่มแตกต่างกันไป แจ่มแจ้ง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ตามหลักเหตุผล เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม และยังประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนามากทีเดียว และยิ่งอ่านมากรอบก็ยิ่งซาบซึ้งในพระธรรมแห่งองค์พระศาสดา

ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาตท่านอาจารย์ รวบรวมงานเขียนของท่าน เป็นธรรมประทีป ๙ เล่มนี้ขึ้น เพื่อความสะดวกในการศึกษา อ่านง่าย เข้าใจได้ไม่ยาก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษา และลงมือปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หากท่านทำใจให้เป็นกลาง อ่านด้วยความพินิจพิจารณา ย่อมจับหลักการและน้อมเข้าสู่การปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ผิดพลาดอย่างแน่นอน

ในการรวบรวมหนังสือเล่มนี้ จนเสร็จสมบูรณ์ ท่านอาจารย์ได้กรุณาตรวจทาน แก้ไข แต่งเติมข้อความทั้งหมด ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะอ่านในเวลาที่อำนวยให้ และได้รับประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ต่อไป

เภสัชกรหญิงณัฏฐิยา ปันภัทรทรัพย์ ☘️ nuthiya04[at]hotmail.com ☘️ [ขอรับหนังสือ]

※ คำนำจาก หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ
เรียบเรียงโดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์
รวบรวมโดย เภสัชกรหญิงณัฏฐิยา ปันภัทรทรัพย์

🌷 พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง ชำระจิตให้บริสุทธิ์

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประการ ดังนี้ คือ

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง อันได้แก่ คำสั่งสอนเกี่ยวกับศีล วินัย ข้อห้ามต่างๆ ซึ่งจะป้องกันพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติตาม ไม่ให้ตกไปสู่ที่ชั่ว หรือได้รับความเดือดร้อนนานาประการจากการอยู่ร่วมกันในสังคม

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ คำสั่งสอนที่เกี่ยวกับการทำความดี ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสต่างๆ ที่จะทำให้จิตเศร้าหมอง

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ทรงแบ่งออกเป็นขั้นๆ ดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่อง การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่อง การชำระจิตให้บริสุทธิ์ นี้ มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ถึงแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีตหรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า “อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ” แปลว่า “การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

จิต คือ ตัวพระพุทธศาสนา

เนื่องจากพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ที่เราอาจกล่าวให้ชัดว่า จิต คือ ตัวพระพุทธศาสนา ก็ได้

แต่จิตไม่มีรูปร่างหน้าตาให้แลเห็น ทั้งๆที่เรารู้ว่ามีจิตอยู่ด้วยกันทุกคน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องศึกษาให้รู้จักจิตพร้อมทั้งคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหลาย ให้รู้จักตามความเป็นจริงเสียก่อน จึงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง

🌷 สภาพเดิมของจิต

ตามพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ดังนี้

“ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ เย จิตฺตํ, สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา” แปลว่า “ผู้ใดสำรวมจิตซึ่งมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไปสู่ที่ไกลๆได้ ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำเป็นที่อาศัย นี้ไว้ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากการพันธนาการของมาร (คือกิเลส) ได้”

ทั้งนี้แสดงว่า จิตของแต่ละคนมีดวงเดียว ไม่มีรูปร่างให้แลเห็นด้วยตา นอกจากจะแสดง “ความรู้” ออกมาให้รู้สึก โดยผ่านช่องทางซึ่งจิตใช้อาศัยสำหรับติดต่อกับอารมณ์เท่านั้น จิตมีสภาพว่องไวปราดเปรียวในการออกไปรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อย่างอื่นอีกต่อไปตามลำดับ ตลอดเวลาที่ตื่นนอนอยู่

🌷 ต้นกำเนิดของจิต

ตามพระบาลีในอนมตัคคสูตร กล่าวไว้ดังนี้

“อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้ มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ซึ่งผู้มีปัญญาไม่อาจตามรู้ได้ว่ามาจากไหน? และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อใด”

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่ก่อนนานมาแล้ว ไม่มีผู้ใดเป็นผู้สร้างขึ้น และไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

กล่าวให้ชัดก็คือ จิตมีอยู่นานแล้ว โดยไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร

🌷 จิตไม่เคยดับตายหายสูญ

มีพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ :

“จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ” แปลว่า “ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้”

หมายความว่า จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่ง ติดต่อกันไปหลายพระชาติ เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนทรงตรัสรู้ และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายซึ่งถือกำเนิดเป็นพระชาติต่างๆ นั้นต่างหากที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือเปลี่ยนไปทุกพระชาติใหม่ทุกชาติ

ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง หรือเปลี่ยนตามรูปร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่า พระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น,ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นสัมมาสัมพุทโธยืน รู้ อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติเกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว

🌷 จิตทรงไว้ซึ่งความรู้ ไม่มีการเกิดดับ

เนื่องจากจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่าง ให้สัมผัสหรือให้แลเห็นได้เลย นอกจากจะแสดง ความรู้ ออกมาให้รู้สึกเท่านั้น อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ เฉยๆก็รู้ มีจิตอยู่ที่ใด ย่อมรู้อยู่ที่นั้นตลอดกาล ไม่มีการเกิดดับ กล่าวคือ ไม่มีการรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

มีพระบาลีในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานรับรอง ไว้ดังนี้:

“สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า “เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่าราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต”

ทั้งนี้แสดงว่า เมื่อมีกิเลสอย่างใดเกิดขึ้นก็รู้ (ในที่นี้คือ ราคะ) เมื่อกิเลสอย่างนั้นๆ ดับไปก็รู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ สิ่งที่เกิดดับนั้น ไม่ใช่จิตแน่นอน จิตไม่มีการเกิดดับ แต่จิตทรงไว้ซึ่ง “ความรู้” ตลอดเวลา

🌷 วิธีสาธิตว่าจิตไม่มีการเกิดดับ

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเรียนท่องจำธรรมะจาก ตำราหรือครูอาจารย์ที่สอนว่า จิตเกิดดับ เป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้เฉลียวใจว่า ขัดกับเหตุผลและหลักของกรรมกันเลย นั่นก็คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งทำกรรมไว้อย่างหนึ่งแล้วดับไป จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลัง จะต้องรับกรรมต่อจากจิตดวงเก่า ดังนี้ ซึ่งจะเป็นผลให้รู้จักธรรมะข้ออื่นที่เกี่ยวข้อง ผิดตามไปด้วยตลอดสาย

ถ้าจิตเกิดดับเช่นนี้จริง เหมือนดังที่เรียนกันอยู่ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต ในวันมาฆะบูชานั้น รวมทั้งข้อบัญญัติเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามนำไปปฏิบัตินานเพียงไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงมือสาธิตนั้น เราจะต้องทราบเป็นพื้นฐานเสียก่อนว่า จิตคือธาตุรู้ หมายความว่า ที่ใดมีธาตุรู้ยืนทรงตัวอยู่ ก็ต้องแปลว่าที่นั้นมีจิตอยู่

ถ้าธาตุรู้นั้น รู้อยู่โดยตลอดเวลาแล้ว แต่เรากลับพูดว่า จิตเกิดดับ (รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง) ก็ย่อมพูดผิดจากความจริง

เพราะว่า ถ้าพูดว่า จิตเกิด ก็ย่อมแปลว่า เดิมไม่มีจิตอยู่ แต่เพิ่งจะมีจิตขึ้นมา และถ้าพูดว่า จิตดับ ก็แปลว่า จิตนั้นได้หายไปแล้ว ขณะนี้ไม่มีธาตุรู้เหลืออยู่อีกแล้ว

ดังนั้น ขอให้ใช้ความเป็นธรรมสังเกตดูว่า “ธาตุรู้” ได้บกพร่องขาดหายไปในขณะใดหรือไม่ แล้วกล่าวออกมาตามความเป็นจริงเท่านั้น ก็จะทำให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และนี่คือสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง พระบรมศาสดาย่อมไม่ทรงสั่งสอนสิ่งใดที่ผิดไปจากความจริงเป็นอันขาด

สมมุติว่า เรายกวัตถุชิ้นหนึ่ง ออกมาตั้ง ณ จุดๆ หนึ่ง แล้วเพ่งดูอยู่ ณ จุดๆ นั้น โดยไม่ให้สายตาที่เพ่งดู เคลื่อนออกไปเพ่งดูที่จุดอื่นนอกจากที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวเท่านั้น เราย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ตั้งอยู่ที่จุดนั้น

ทีนี้ เรายกเอาวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้น โดยใช้สายตาเพ่งดูอยู่ที่จุดที่กำหนดไว้ตามเดิม เราก็ย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นแล้ว

ต่อจากนี้ ก็ยกเอาวัตถุชิ้นเดิมนั้นกลับเข้ามาตั้ง ณ จุดที่กำหนดไว้เดิมอีก เราก็ย่อม “รู้”ว่า วัตถุชิ้นนั้น ได้กลับมาตั้งอยู่ในที่เดิมอีกแล้ว และเมื่อเรายกวัตถุชิ้นนั้น ออกไปเสียจากจุดนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราก็ย่อม “รู้” ว่าขณะนี้วัตถุชิ้นนั้น ได้หายไปจากจุดนั้นอีกแล้ว ดังนี้

ทำเช่นนี้ไม่ว่ากี่ครั้งก็ตาม ย่อมสรุปผลได้ว่า เราย่อม “รู้” อยู่ทุกขณะและตลอดเวลา ว่าวัตถุชิ้นนั้นได้เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และวัตถุชิ้นนั้นได้หายไปจากจุดนั้น ไม่ว่าจะมีวัตถุตั้งอยู่หรือไม่ได้ตั้งอยู่ ณ จุดที่กำหนดให้นั้นก็ตาม

ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตของเราไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน คือ ไม่ได้เกิดดับ ดังที่เรียนท่องจำกันอยู่ในปัจจุบันนี้เลย แต่วัตถุ คือ “สิ่งที่ถูกจิตรู้” ต่างหาก ได้เกิดขึ้นที่การรับรู้ของจิต เมื่อยกไปตั้งที่จุดนั้น และดับไปจากการรับรู้ของจิต เมื่อยกออกไปเสียจากจุดนั้น วัตถุต่างๆ หรือเรื่องที่จิตรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความนึกคิดทางใจ ซึ่งเรียกว่า อารมณ์ นั้น ต่างหากที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนับครั้งไม่ถ้วนในระยะวันหนึ่งๆ

มีพระบาลี ในมหาสติปัฏฐานสูตรรับรองอยู่ ดังนี้ คือ

“สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ, วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า “เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่า ราคะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะหายไปจากจิต ดังนี้”

ทั้งนี้ เราย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับตามพระบาลีนี้คือราคะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับตามอารมณ์จากภายนอก แต่ ธาตุรู้คือจิต นั้น รู้ทรงตัวอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดดับตามราคะไปด้วย อาการรัก – ชังของจิตเท่านั้น ที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปจากจิต จิตไม่ได้เกิดดับเลย

🌷 จิตเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม

ด้วยเหตุที่ จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติ กฎแห่งกรรม ลงที่จิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ถ้าหากจิตเกิดดับจริง กฎแห่งกรรมที่ทรงบัญญัติไว้ก็ย่อมผิดหมด หรือถ้าขืนอธิบายว่า กรรมตั้งอยู่กับอะไรก็ได้และสามารถถ่ายทอดกรรมจากจิตดวงหนึ่ง ซึ่งดับไปแล้วไปให้จิตอีกดวงหนึ่ง รับกรรมแทนกันเป็นทอดๆไป ย่อมเป็นสิ่งที่ขาดเหตุผลไม่ควรเชื่อถืออย่างยิ่ง

มีพระบาลีในพระธรรมบท รับรองอยู่ดังนี้คือ “มโน ปุพพํ คมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติ วา ตโตนํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ผู้ที่กล่าววาจาหรือ กระทำการสิ่งใดด้วยใจคิดร้าย กรรมย่อมตามผู้นั้นไป เหมือนดังล้อที่หมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น”

ทั้งนี้แสดงว่า บรรดาสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่มี จิต เป็นประธานสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น นั่นคือ บรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นทุกอย่างนั้น ก็เพราะ จิต เป็นผู้สั่งให้ลงมือกระทำ ทั้งทางกายและวาจาทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่รับผลของกรรมนั้น ก็คือ จิตดวงนั้น นั่นเอง

🌷 จิตเป็นหลัก เป็นประธานของธรรมฝ่ายโลกียะทั้งปวง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงพิจารณาอย่างสุขุมถ่องแท้เห็นชัดเจนแล้วว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย และเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น จึงทรงเชิดเอา จิตเป็นหลัก เป็นประธานของบรรดาธรรมะที่มีอยู่ในโลก

ดังพระบาลีในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้ “จิตฺเตน นิยติโลโก, จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอก ธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู” แปลว่า “โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือ จิต เท่านั้น”

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นหลักเป็นประธานของธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งหลาย) จิตจึงไม่มีการดับตายหายสูญตามโลก (อารมณ์) ไปด้วย

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งปวง คือ อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารมั่นคงเลย

🌷 จิตเดิมประภัสสรผ่องใส

จิตเมื่อยังไม่ได้ผสมหรือกระทบกับอารมณ์ ย่อมมีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่เมื่อมีอารมณ์มาผสมหรือกระทบเข้า ก็กลายเป็นจิตผสมกับอารมณ์ไป ทำให้ถูกปรุงแต่ง และเกิดความยินดียินร้ายขึ้น จนเสียสภาพประภัสสรผ่องใสที่มีอยู่เดิมไปหมดสิ้น

มีพระบาลีรับรอง ดังนี้ “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง”

ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อยังไม่มีอารมณ์เป็นแขกจรเข้ามานั้น จิตมีสภาพประภัสสร ผ่องใส สงบ ไม่วุ่นวายเลย แต่ถ้ามีแขกจรเข้ามาแล้ว ก็ปรุงแต่งครอบงำให้จิตหวั่นไหว เศร้าหมองเสียคุณภาพที่มีอยู่เดิมไป

อาการปรุงแต่งหวั่นไหวนี้ แสดงออกมาในรูปของความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง สลับกันไปมา ตลอดเวลาที่มีอารมณ์จรเข้ามากระทบ (คือ อาการของจิตเกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต) แล้วก็กลับคืนสู่สภาพประภัสสรผ่องใสอีกชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะมีอารมณ์ชนิดอื่นจรเข้ามา ปรุงแต่งในลำดับต่อไปอีกเสมอ

สภาพที่จิตแสดงออกหลังจากกระทบอารมณ์แล้วนี้ เมื่อดำเนินไปบ่อยๆ ครั้ง และเป็นระยะเวลานาน สั่งสมกันมากๆ เข้า ก็ย่อมกลายเป็น นิสัย – อุปนิสัย จนเกิดความเคยชิน ทำให้เกิดเป็น อนุสัย นอนเนื่องติดอยู่ที่จิต ตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามากระทบ

ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์นั้นๆ มากขึ้นโดยลำดับ เพราะเข้าใจผิดว่า อารมณ์เป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร จึงปรารถนาจะครอบครองไว้ถ้าถูกใจ หรือผลักไสออกไปเสียให้พ้นถ้าไม่ถูกใจ ทั้งนี้เนื่องจากความโง่เขลาเพราะไม่รู้จักสภาพประภัสสรผ่องใสของตนที่มีอยู่เดิม

🌷 จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์

คำว่า สภาพประภัสสรผ่องใส นี้ ได้เป็นจุดที่นักศึกษาธรรมะนำมาสนทนาถกเถียงโต้แย้งกันมากว่า ถ้าสภาพเดิมของจิตบริสุทธิ์จริงแล้ว ก็ต้องเป็นจิตพระอรหันต์ จึงย่อมไม่มาเกิดอีกต่อไป

ความจริงแล้ว สภาพประภัสสร หมายถึง ความผ่องใสเลื่อมพราย ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของจิต ที่เรียกว่า ภวังคจิต นั่นเอง สภาพประภัสสรนี้จะปรากฏที่จิต หลังจากที่รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว กับก่อนที่จะเปลี่ยนไปรับรู้อารมณ์อีกอย่างหนึ่งต่อไป ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่สั้นมาก ถ้าจิตไม่มีสมาธิจริงๆ แล้ว จะไม่เห็นจิตประภัสสรของตนเอง

ส่วนคำว่า จิตบริสุทธิ์ หมายถึง ความผ่องใสของจิต ชั้นพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะได้รับการศึกษาอบรมและปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ มาสมบูรณ์ดีแล้ว จนรู้จักอารมณ์ทั้งหลายดีว่าเป็นทุกข์ ไม่มีแก่นสาร จึงสิ้นเยื่อใยที่จะยึดถือไว้อีกต่อไป

จิตประภัสสร กับ จิตบริสุทธิ์ มีสภาพธรรมเหมือนกัน แต่แตกต่างกันโดยภาวะ คือ

จิตประภัสสรไม่มีสติควบคุมอยู่ ดังนั้น จึงถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำปรุงแต่งตลอดเวลา

แต่ จิตบริสุทธิ์ นั้น มีสติตื่นควบคุมอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนสามารถดำรงตนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอารมณ์ได้ โดยไม่เสียคุณภาพอันบริสุทธิ์ผ่องใสดังสามัญชนอีกต่อไป ดุจใบบัวที่อยู่รวมกับน้ำได้ โดยตนเองไม่เปียกน้ำ ฉะนั้น

🌷 จิตกลับกลอก ไม่ใช่หมายว่าจิตเกิดดับ

มีพระบาลีใน จิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบท แสดงไว้ดังนี้ “ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุง กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ” แปลว่า “ผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรนกลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น”

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนให้ใช้ ฌาน (ความเพ่ง) แก้ความกลับกลอกของจิต ตามมรรค ๘

ทั้งนี้แสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ดิ้นรน กลับกลอก ว่องไว ปราดเปรียว ในขณะที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกนี้ แต่สามารถฝึกฝนอบรมให้สงบได้โดยใช้สติเพ่งอยู่อย่างต่อเนื่อง

🌷 จิตกับอารมณ์

จิตคือธาตุรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย ส่วน อารมณ์ ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกัน หรืออาศัยธาตุทั้ง ๔ เป็นแดนเกิด เช่น รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส เป็นต้น

อารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ จิต รับรู้ เมื่อกระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เกิดจักขุวิญญาณ, โสตวิญญาณ, ฆานวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ และมโนวิญญาณขึ้น

เมื่อจิตกับอารมณ์กระทบกัน ก็ย่อมส่งผลให้จิตเกิดความฟุ้งซ่าน หวั่นไหว เกิดความนึกคิด ความยินดี-ยินร้าย และทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นตามมาด้วย

ถ้าอุปมา จิต เหมือน น้ำ ในมหาสมุทรแล้ว อารมณ์ ก็ย่อมต้องอุปมาเหมือน ลม พายุที่พัดมากระทบผิวน้ำในมหาสมุทร ซึ่งทำให้เกิดเป็นลูกคลื่นน้อยใหญ่กลิ้งตัวตามกำลังลมพายุที่พัดนั้นด้วย

ลูกคลื่นลูกหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ทยอยตัวดับตามๆกันไป ทั่วท้องมหาสมุทรตลอดเวลาที่ลมพายุพัดอยู่ ถ้าลมพายุหยุดพัดเสียเมื่อไหร่ ลูกคลื่นทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้น ก็ย่อมลดขนาดเล็กลงๆ ตามลำดับเมื่อนั้นด้วย จนกระทั่งเหลือแต่ผิวน้ำที่เป็นเส้นระดับราบเรียบในที่สุด

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพเดิมที่แท้จริงของ น้ำ ในท้องมหาสมุทรนั้น สงบ ราบเรียบ ไม่ปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ที่เกิดมีคลื่นน้อยใหญ่วุ่นวายนั้น เป็นสภาพที่เกิดขึ้นภายหลัง เพราะมีลมพายุพัดมากระทบผิวน้ำ

ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับ จิต ที่มีสภาพเดิมอันสงบราบเรียบ แต่ที่ได้วุ่นวาย กระสับกระส่ายไปมาในภายหลัง เพราะมีอารมณ์เข้ามากระทบ ฉะนั้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราสามารถสรุปกล่าวให้เป็นสัจธรรมได้ว่า
มีน้ำ โดยไม่มีลูกคลื่น เลย —> ย่อมได้
แต่จะมีลูกคลื่น โดยไม่มีน้ำ นั้น —> ย่อมไม่ได้
หรือมีจิต โดยไม่มีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์เลย —> ก็ย่อมได้
แต่จะมีอาการหวั่นไหวจากอารมณ์ โดยไม่มีจิต นั้น —> ย่อมไม่ได้ เป็นธรรมดา

ดังนั้น น้ำ กับ ลูกคลื่น จึงแยกออกจากกันได้ และ จิต กับ อารมณ์ จึงแยกออกจากกันได้ จิตไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นโดยปรมัตถ์ เช่น วิมุตติจิต (จิตหลุดพ้น)

🌷 วิเคราะห์คำว่า เกิด – ดับ หรือ เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราย่อมเห็นได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปจากผิวน้ำนั้น ก็คือ ลูกคลื่น และ สิ่งที่วุ่นวายกระสับกระส่ายเพราะมีอารมณ์มากระทบนั้น คือ อาการของจิต

แต่ น้ำ และ จิต ซึ่งเป็นของเดิมนั้น ยังคงยืนตัวรองรับความเป็นไปของอาการเคลื่อนไหวทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ไม่เคยดับตายสูญหายไปไหน

ดังนั้นคำว่า เกิด – ดับ หรือ เกิดขึ้น – ตั้งอยู่ – ดับไป จึงไม่สามารถใช้ควบคู่กับน้ำในมหาสมุทร หรือ จิตซึ่งมีอยู่เดิมได้เลย แต่สามารถใช้กับลูกคลื่นและความวุ่นวายกระสับกระส่ายของจิตได้โดยเฉพาะเท่านั้น

กล่าวให้ชัดก็คือ อาการของจิต (ซึ่งเป็นนามขันธ์) เกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิตตามลำดับ แต่จิตยังคงยืนตัวรู้อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้พลอยเกิดดับตามอารมณ์ทั้งหลายไปด้วย

หมายความว่า อารมณ์อันใดเกิดขึ้นก็รู้ อารมณ์อันใดตั้งอยู่ก็รู้ อารมณ์อันใดดับไปก็รู้ เพราะผู้ปฏิบัติได้นำความรู้ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างมั่นคง วางเฉย ไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ทั้งหลายเสียอย่างสิ้นเชิงแล้ว

เพราะฉะนั้น การเกิด – ดับ จึงเป็น อาการของจิต ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แล้วก็ดับไป ซึ่งท่านเรียกว่า พระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

ถ้าจิตรู้เท่าทันอาการของจิตที่เกิดขึ้น โดยการปล่อยวางเสีย อำนาจพระไตรลักษณ์ย่อมเข้าครอบงำจิตไม่ได้ จึงไม่เป็นทุกข์

แต่ถ้าจิตไม่รู้เท่าทันอาการของจิต คือพลอยหวั่นไหวยินดี – ยินร้ายตามไปด้วย ก็ย่อมถูกอำนาจพระไตรลักษณ์ครอบงำเป็นธรรมดา จึงต้องเป็นทุกข์

และจิตชนิดหลังนี้ ก็จัดเป็นโลกียจิต หรือยังเป็น วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นจิตของปุถุชน (ผู้หนาไปด้วยกิเลส) อยู่นั่นเอง.

คำนิยามเรื่องเกิด – ดับ

สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในขณะปัจจุบันแล้วปรากฏขึ้นมา เรียกว่า เกิด
สิ่งใดมีอยู่ในปัจจุบัน แล้วหายไป เรียกว่า ดับ

การเกิดทางเนื้อหนังร่างกาย เรียกว่า ชาติ
การเกิดทางจิต เช่น ตรัสรู้ เรียกว่า อุบัติ

การแตกดับทางเนื้อหนังร่างกาย
แต่จิต จุติ (เคลื่อน) ไปสู่ภพใหม่ เรียกว่า ตาย (มรณะ)

การหยุดคิดทางจิต เรียกว่า นิรุชฌ์
การดับกิเลสทางจิต เรียกว่า นิโรธ

🌷 จิต คือ ตน

เนื่องจาก สามัญสัตว์โลกไม่ได้รับการอบรมศึกษา ทำให้ จิต รู้จักอารมณ์ผิดจากความเป็นจริง (อวิชชา) ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็เกิดความพอใจยินดีในอารมณ์ (ตัณหา) และยึดติดคิดหวังจะเอามาครอบครองไว้ (อุปาทาน)

ด้วยอำนาจ อวิชชา – ตัณหา – อุปาทาน ดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้ จิต จมติดอยู่ใน โลก (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) โดยไม่รู้จัก ตนเอง (จิต) ซึ่งยืนตัวเป็นประธานอยู่ด้วยทุกขณะ และไม่รู้จักตนเองว่ามีสภาพเดิมอันประภัสสรผ่องใส

ทำให้กลับไปยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นของภายนอกเข้ามา ด้วยความสำคัญผิดว่าอารมณ์มีสภาพเที่ยงแท้ถาวร และยึดว่าอารมณ์เป็นอัตตาตัวตนของตนเอง

ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ตนเองก็คือธาตุรู้ หรือ จิตเป็นอัตตาตัวตน ส่วนอารมณ์นั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา

มีพระบาลีในบัณฑิตวรรคแห่งพระธรรมบท กล่าวไว้ชัดเจนว่า “ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ, จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต” แปลว่า “บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส”

ซึ่งแสดงชัดเจนว่า ตนคือจิต และ จิตก็คือตน อย่างไม่มีปัญหา

🌷 อารมณ์เป็นสภาพธรรมที่จิตหลงยึดเป็นตนเอง

อารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่ จิต หลงยึดถือเอาเข้ามาเป็นสมบัติของตนเอง ด้วยความสำคัญผิด เพราะความจริงนั้น อารมณ์ เป็นเพียงเงา และความรู้สึกที่มีต่อวัตถุหรือสิ่งที่อาศัยวัตถุเกิดขึ้นทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุดินน้ำลมไฟ รวม ๔ ธาตุทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป ต้องเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดาทุกอารมณ์

อารมณ์ ดังกล่าวนี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย รวม ๕ ทาง ซึ่งจะเข้าสู่ จิต ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียงคู่กันตามลำดับ

เมื่อ จิต รับรู้ อารมณ์ ทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว ก็จดจำอารมณ์นั้นๆ ไว้ แล้วก็นึกน้อมขึ้นมารับรู้อีก โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์ทั้ง ๕ อีกก็ได้ เป็นอารมณ์ที่เกิดจาก ความนึกคิดที่เก็บไว้ทางใจ (ธรรมารมณ์) อีกทางหนึ่ง รวมเป็น ๖ ทาง

อารมณ์ทั้ง ๖ ดังกล่าว คือ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย ความนึกคิดทางใจ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปสู่จิตทีละอารมณ์ ตลอดเวลาที่ตื่นนอน รวมทั้งในขณะนอนฝันด้วย สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใด ครั้งละเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น

เมื่อ อารมณ์ ดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นเมื่อใด จิต ก็จะแล่นออกไปรับรู้ อารมณ์ ตามช่องทางที่เข้ามา กลายเป็น จิตผสมกับอารมณ์ เมื่อนั้น ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหวั่นไหว

ครั้นอารมณ์ดังกล่าวนี้ดับไป ความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหว ก็ย่อมสงบลงชั่วขณะ จิต ก็จะดิ้นรนแสวงหา อารมณ์ อันอื่นเพื่อจะได้รับรู้ต่อไปอีก สุดแต่ว่าจะได้อารมณ์ที่พอใจมาทางใด เมื่อรับรู้อารมณ์ใหม่ก็เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่านหวั่นไหวในลักษณะใหม่ด้วย อารมณ์ เหล่านี้ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาปรุงแต่ง จิต ตลอดเวลาโดยไม่มีที่สิ้นสุด

ทั้งนี้เป็นเพราะ จิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงหลงยึดเอาอารมณ์ซึ่งไม่เที่ยงไว้ โดยเข้าใจผิดว่าเที่ยงและมีแก่นสาร เนื่องจากไม่รู้จักตนเองที่แท้จริง

🌷 จิตผสมกับอารมณ์

จิตเมื่อผสมกับอารมณ์ แบ่งเป็นจิต ๓ จำพวก คือ

๑. กามาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา โดยออกไปรับรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทาง

๒. รูปาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตปรารภถึง รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย เป็นอารมณ์ทางใจ (ธรรมารมณ์) ที่ปราศจากกาม เป็นรูปฌาน (เพ่งรูปเป็นอารมณ์)

๓. อรูปาพจรจิต เกิดขึ้นจากจิตที่เพิกออกจากอารมณ์ทางใจที่ปราศจากกามดังกล่าวข้างต้น เป็น อรูปฌาน (เพ่งนามเป็นอารมณ์)

จิตเมื่อผสมกับอารมณ์แล้ว ก็ย่อมยึดถือไว้ และถูกครอบงำปรุงแต่งให้หวั่นไหว แล้วแสดงอาการยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามชนิดของอารมณ์ ซึ่งเป็น อาการของจิต ที่แสดงออกมาเนื่องด้วยอารมณ์ หรือเรียกว่า นามขันธ์ ๔

อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (นามขันธ์ ๔)

๑. เวทนา ความรู้รสชาติแห่งอารมณ์
จัดเป็น ๓ ประเภทตามชนิดของอารมณ์ที่มากระทบ คือ
สุขเวทนา อารมณ์ที่น่ารักใคร่น่าปรารถนา (อิฏฐารมณ์)
ทุกขเวทนา อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ (อนิฏฐารมณ์)
อทุกขมสุขเวทนา อารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตให้มีอารมณ์เฉยๆ (มัชฌัตตารมณ์)

๒. สัญญา ความจดจำอารมณ์
แบ่งเป็น ๖ ประเภทตามชนิดของอารมณ์ที่มากระทบ คือ
รูป (รูปสัญญา)
เสียง (สัททสัญญา)
กลิ่น (คันธสัญญา)
รส (รสสัญญา)
กายสัมผัส (โผฏฐัพพสัญญา)
ความนึกคิดทางใจ (ธัมมสัญญา)

๓. สังขาร ความนึกคิดถึงอารมณ์
จัดเป็น ๓ ประเภทตามอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น คือ
คิดดี เป็น กุศลเจตสิก
คิดไม่ดี เป็น อกุศลเจตสิก
คิดไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว เป็น อัญญสมานาเจตสิก

๔. วิญญาณ ความรับรู้อารมณ์ที่เข้ามากระทบ
แบ่งเป็น ๖ ช่องทาง ตามช่องทางที่รับรู้อารมณ์ คือ
จักขุวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางตา
โสตวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางหู
ฆานวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางจมูก
ชิวหาวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางลิ้น
กายวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางกาย
มโนวิญญาณ รับรู้อารมณ์ ทางใจ … เหล่านี้

จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ทรงเป็นผู้ปฏิเสธว่า
อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ เป็น อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)

๑. อารมณ์ ต่างๆ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย รวม ๕ ประการเหล่านี้นั้น จัดเป็น รูปขันธ์ … เป็นอนัตตา

๒. จิตแสดงอาการ ยึดถือครอบครองอารมณ์ไว้ ด้วยความเข้าใจผิด ว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ๔ ประการ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งจัดเป็น นามขันธ์ ๔ … เป็นอนัตตา เช่นเดียวกัน

รูปขันธ์ ๑ และนามขันธ์ ๔ เรียกรวมกันว่าเป็น ขันธ์ ๕ หรือเรียกว่า รูปนาม ก็ได้

เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบจิต ขันธ์ ๕ หรือ รูปนาม ก็ยังไม่เกิดขึ้น เราเรียกจิตขณะนี้ว่า จิตตกภวังค์ คือ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์ หรือเรียกว่า จิตประภัสสร ก็ได้ แต่ถ้าจิตขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์เมื่อใด ความประภัสสรก็ย่อมหายไป ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ก็เกิดขึ้น

มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์เกี่ยวกับ ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ดังนี้ “รูปํ ภิกฺขเว อนตฺตา” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตัวตน”

ทรงใช้เหตุผลอธิบายว่า ถ้ารูปใช่ตัวตนแล้ว รูปก็ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย สัตว์ย่อมหวังในรูปได้ว่า ขอรูปจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะสัตว์ไม่อาจหวังในรูปได้ รูปจึงไม่ใช่ตัวตน

และในทำนองเดียวกัน ทรงตรัสถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบว่า ก็ไม่ใช่ตัวตน

และทรงสรุปว่า “เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ, เอวเมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ” แปลว่า “บุคคลพึงเห็นสิ่งนั้น (ขันธ์ ๕) ว่านั่นไม่ใช่เรา เราไม่เป็นนั่นเป็นนี่ นั่นไม่ใช่ตนของเรา ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ดังนี้”

ในตอนท้ายพระสูตรตรัสว่า จิตของพระปัญจวัคคีย์ ได้หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส อันเป็นเหตุยึดถือในขันธ์ ๕ ซึ่งแสดงว่า จิต เป็นผู้ปฏิเสธ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่สภาพเดิมของจิต แต่เพราะถูกอารมณ์ปรุงแต่ง ทำให้เสียสภาพเดิมไป

🌷 จิตกับร่างกาย

เนื่องจาก จิต เป็นสภาพธรรมที่ ไม่มีรูปร่าง (อสีรีรํ) จึงไม่สามารถติดต่อรับรู้อารมณ์ใดๆ ได้โดยตรง เมื่อเข้าไปถือกำเนิดในภพภูมิใดก็ตาม จะต้องสร้างรูปร่างกายไว้ใช้อาศัย (ภพ) สำหรับติดต่อกับอารมณ์อีกทอดหนึ่ง

สำหรับมนุษย์นั้น จิตจะต้องสร้างร่างกายขึ้นสำหรับอาศัย โดยเข้าครอบครองหยดน้ำของบิดามารดาที่ผสมกันแล้ว จนกระทั่งหยดน้ำแห้งงวดเข้าตามลำดับ เรียกตามภาษาบาลีว่า กลละอัมพุชะคณเปสิปัญจะสาขา ซึ่งแยกเป็นหัว ๑, มือ ๒, เท้า ๒ รวม ๕ กิ่งในที่สุด จัดว่าเป็นรูปทารกได้แล้ว แต่ยังต้องรอเวลาเจริญเติบโตในครรภ์มารดาอีก ๘-๙ เดือน จึงจะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก

รูปร่างกายมนุษย์ ที่คลอดออกมานี้ ประกอบด้วย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ (มหาภูตรูป ๔) เนื่องจากมหาภูตรูป ๔ มีธาตุไฟประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น รูปร่างกายจึงถูกธาตุไฟเผา ให้เปลี่ยนแปรสภาพไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปตลอดเวลา

เมื่อ จิต เข้าครอบครองและยึดถือไว้ ตั้งแต่เป็นกลละอยู่,อย่างเหนียวแน่น เกิดความเพลิดเพลินยินดีและเข้าใจผิดว่าสิ่งสกปรกโสโครกรอบตัวนั้นอบอุ่นน่ารัก และเป็นตัวของตนเอง เพราะลืมสภาพที่แท้จริงของตนเองเสียแล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อคลอดและเติบโตขึ้น ก็ถือเอารูปร่างกายว่าเป็นตัวของตนเอง เมื่อรูปร่างกายป่วย ก็ทึกทักว่าเราป่วย เมื่อรูปร่างกายแก่เฒ่าลง ก็ทึกทักว่าเราแก่เฒ่า หรือเมื่อรูปร่างกายกำลังจะตาย ก็ทึกทักเอาว่าเรากำลังจะตาย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ป่วย ไม่ได้แก่เฒ่า ไม่ได้ตาย และไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น รวมทั้งไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ เป็นเพียงผู้เข้ามาอาศัย รู้ อยู่ในรูปร่างกายที่ป่วย,แก่เฒ่าและกำลังจะตายลงเท่านั้น

จิตมีความรักใคร่หวงแหนและเพลิดเพลินต่อสิ่งที่ร่างกายรายงานถึงมากที่สุด โดยมอบหน้าที่การรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายทุกส่วน สำหรับสัมผัสกับอารมณ์ทั้งหมด ไม่ว่าร่างกายจะรายงานรสชาติที่สัมผัสกับอารมณ์ ว่าเปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรก็ตาม ก็ยกร่างกายทั้งชุด ให้แสดงบทบาทกับอารมณ์ไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วย แล้วก็ส่งรายงาน ความรู้สึกจากการสัมผัสกันของร่างกายกับอารมณ์ ให้จิตทราบอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น จิตจึงพลอยเห็นดีเห็นงามและหลงใหลกับการรายงานของร่างกายทุกครั้ง ทั้งๆ ที่รายงานตรงข้ามกับความเป็นจริง ถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า : ที่ไหนมีราคะ – ที่นั่นก็มีราคา, ที่ไหนมีราคา – ที่นั่นก็มีราคะ

🌷 ร่างกายเป็นเพียงที่อาศัยของจิต (ภพ) ชั่วระยะหนึ่ง

มีพุทธพจน์จากพระธรรมบท ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ, ยตฺถพาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ” แปลว่า “พวกเธอทั้งหลาย จงดูโลก (ร่างกาย) อันวิจิตรดุจราชรถที่คนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่ ผู้รู้ หาข้องไม่”

การที่สามัญชนยึดถือเอารูปร่างกายเป็นหลัก และพากันสมมุติเรียกว่า เป็นคน – เป็นสัตว์นั้น เพราะคิดว่ามองเห็นและสัมผัสได้ ใช้เป็นสื่อกระทบอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นสัจธรรมข้อนี้แล้วว่า รูปร่างกายทั้งหลายนั้น เป็นแต่เพียงที่อาศัยของจิต (ภพ) ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาพหนึ่งสภาพใดอย่างเที่ยงแท้ถาวรได้ พอสิ้นอายุขัย ก็ต้องแตกแยกและสลายตัวสิ้นสภาพสุดท้ายไปเป็นธรรมดาเหมือนกันทุกคน จึงไม่สามารถนับเอารูปร่างกายเป็นหลักได้

แต่ทรงเห็นชัดเจนว่าในขณะที่รูปร่างกายแตกออกนั้น จิตที่อาศัยอยู่ในร่างกาย เป็นสภาพธรรมที่เคลื่อนออก (จุติ) ไปสร้างรูปร่างกายใหม่สำหรับอาศัยต่อไปอีกตามลำดับ ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดเวลาที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร แต่สามารถฝึกฝนจิต หรือปฏิบัติจนจิตได้รับมรรคผลได้ ดังนั้น จึงทรงนับเอา จิตเป็นหลัก

ร่างกายกับจิต จึงเป็นคนละอย่างกัน แต่อาศัยซึ่งกันและกัน กลมเกลียวเสมือนเป็นอย่างเดียวกัน

🌷 จิตกับวิญญาณ (ธาตุรู้กับการรับรู้อารมณ์)

เนื่องจาก จิตสามัญชน คุ้นเคยกับอารมณ์ทั้งหลายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ก็ย่อมรับรู้และยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้เสมอไป จึงเกิดวิญญาณ ๖ ขึ้น

แต่จิตพระอริยะนั้น ได้รับการอบรมให้ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบเสีย วิญญาณ ๖ จึงดับหมดสิ้นเหลืออยู่แต่ จิตบริสุทธิ์ นิ่ง สงบอยู่เท่านั้น

การรู้ของพระอริยะนี้เป็นเพียง รู้สักแต่ว่ารู้ (ญาณมตฺตาย) ระลึกก็สักแต่ว่าระลึก (ปฏิสฺสติมตฺตาย) เท่านั้น ไม่มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิปรุงแต่งอยู่ด้วย

ดังพระบาลีว่า: “วิญฺญาณสฺส นิโรเธน ตณฺหกฺขย วิมุตฺติโน ปชฺโชตสฺ เสว วิญฺญาณํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ” แปลว่า “จิตพระขีณาสพพ้นจากวิญญาณปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นจากตัณหาได้ เหมือนเปลวไฟที่แลบดับ เนื่องจากวิญญาณดับหมดสิ้น”

จิตพระอริยะนั้นบริสุทธิ์,ไม่ได้ดับ การรับรู้อารมณ์เท่านั้นที่ดับไปจากจิต

ส่วนจิตสามัญชน มีตัณหาและมิจฉาทิฏฐิ กำกับอยู่ด้วย จึงดูเหมือนว่าพลอยเกิดดับไปพร้อมอารมณ์ และหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองเกิดดับ

🌷 ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตาย

ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ (จิต) จุติ (เคลื่อน) ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ,เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ, ความเคลื่อนไป, ความแตกทำลาย, ความหายไป, มฤตยู, ความตาย, ความทำกาละ, ความแตกแห่งขันธ์, ความทิ้งซากศพไว้, ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย

สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔

ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่หลงผิดยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม ว่าเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า

กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหนๆ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถืออารมณ์ ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ

“สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ” แปลว่า “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงตั้งสติพิจารณาโลก (ร่างกาย) ว่าเป็นของว่าง โดยถอนอัตตานุทิฏฐิออกไปเสีย ด้วยการพิจารณาโลก ดังนี้ พระยามัจจุราชก็จะแลไม่เห็นท่าน และท่านก็จะพ้นจากความตาย”

🌷 จิต ตน ธรรม เรา คือ สิ่งเดียวกัน

มีเรื่องบรรยายในมหาปรินิพพานสูตร ตอนหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง ขณะที่พระอานนท์ได้เข้ากราบทูลถามพระอาการประชวร ของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็นอย่างไรบ้างนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า

“อานนท์ จิตของเราได้ตั้งอยู่ ณ ที่ อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร ไม่มีนิมิตหมายอื่นใดอยู่ เราจึงหายป่วยแล้ว เราไม่ได้ป่วย แต่ที่ป่วยนั้นเป็นเรื่องของร่างกาย

ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง หรือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ดังนี้”

พระพุทธองค์ทรงแสดงชัดเจนว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน ส่วนรูปร่างกายนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธิวิหาร นั้น หมายถึง จิตที่ได้รับการฝึกฝนให้สลัดอารมณ์ทุกชนิดออกไปอย่างหมดจดสิ้นเชิง ด้วยความชำนาญคล่องแคล่ว โดยการฝึกฝนปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” ในสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจัดเป็น จิตชั้นพุทโธ

ดังนั้นจึงตรัสว่า จิต ตน ธรรม เรา คือสิ่งเดียวกัน

🌷 พระพุทธองค์ทรงสอนพระวักกลิว่า จิตคือเรา

พระวักกลิ เป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่า รูปร่างกายคือเรา จึงได้ตามเสด็จพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้เข้าใกล้ชิด และเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบความในใจของพระวักกลิเรื่องนี้อยู่ เมื่อได้โอกาสจึงตรัสว่า

วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเรา ว่าเป็นเรา และ กระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอ ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่ที่นี้ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเราห่างกันไกลยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว

วักกลิ เมื่อเธอต้องการจะเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราก็จะบอกทางให้ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ” แปลว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

แสดงว่า จิต คือ ธรรม คือ เรา ส่วนรูปร่างกายไม่ใช่เรา แต่เป็นที่อาศัยของเราเท่านั้น