#เมตตาอัปปมัญญาภาวนา
บทสวดแผ่เมตตา เมตตาอัปปมัญญาภาวนา (บทแผ่เมตตาโดยไม่มีประมาณ)
เป็นบทสวดการแผ่้เมตตาขั้นสูง ให้ตั้งแต่ เทวดา พระอริยเจ้า ภิกษุ โยคี นักบวช มนุษย์ อมนุษย์ ไปถึง อสูร ภูติ เปรต วิญญาน และ สัตว์ รวมครบ ทุกพวก ทุกเหล่า ทั้งสามโลก ทุกทิศ ตั้งแต่สวรรค์ ถึงนรกภูมิ
อานิสงส์ อัปปมัญญา ๔
การเจริญ อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นกิจที่ควรกระทำโดยแท้ เพราะเป็นธรรมอันเย็นใจของสัตว์โลกทั่วไป ตลอดถึงบิดามารดาวงศาคณาญาติ มิตรสหายและสัตว์ทุกจำพวก อีกประการหนึ่งพรหมวิหารนี้ เมื่อทำให้เกิดในใจจริงๆ แล้ว ย่อมระงับเวรภัยพยาบาทได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้นพระศาสดาจารย์จึงเตือนพระภิกษุทั้งหลายว่า
เมตฺตาย ภิกฺขเว เจโตวิมุตฺติยา อาเสวิตาย ภาวิตาย พหุลีกตาย ยานีกตาย วตฺถุกตาย อนุฏฺฐิตาย ปริจิตาย สุสมารทฺธาน เอกาทสานิสํสา ปาฏิกงฺขา กตเม เอกาทส สุขํ สุปติ สุขํ ปฏิพุชฺฌติ น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ มนุสฺสายํ ปิโย โหติ อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เทวตา รกฺขนฺติ นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยิ มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติฯ
แปลเนื้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย (ในธรรมวินัยนี้) ความหลุดพ้นวิเศษ (จากพยาบาทและเวรภัย)ด้วยอำนาจแห่งจิตเมตตา ที่บุคคลซ้องเสพแล้วโดยชอบ กระทำให้เกิดมีขึ้นแก่ตน และกระทำให้มากแล้ว ทำกระแสจิตเดินเหมือนยาน (ที่ให้สำเร็จการไปในสถานที่ต้องการ ) ทำให้เป็นวัตถุแล้ว มิได้หยุดยั้งแห่งการทำจิตและได้สะสมขึ้นแล้ว ปรารถให้สม่ำเสมอ (ไม่ให้เผลอตัวในอิริยาบถทั้ง ๔ แล้ว) บุคคลผู้นั้นหวังอานิสงส์ได้ ๑๑ ประการ ดังนี้
๑.นอนหลับสบาย
๒.ตื่นขึ้นก็สบาย
๓.ไม่ฝันร้าย
๔.คนรัก
๕.อมนุษย์รัก
๖.เทวดารัก
๖.คุ้มกันอันตราย
๗.จิตตั้งมั่น
๘.ผิวพรรณผ่องใส
๑๐.ไม่ตายอย่างหลงใหลลืมสติ
๑๑.ถ้าไม่บรรลุนิพพานเมื่อตายจะไปสู่พรหมโลก
และย่อมได้ความเย็นใจ คือ ทำการงานทางกายก็ดี พูดทางวาจาก็ดี คิดทางใจก็ดี ให้มีเมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ ย่อมเป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ดังนี้ ถ้าใครเจริญอยู่เป็นนิตย์ ย่อมมีอำนาจทำให้สัตว์ทั้งหลาย รับความเย็นใจไปจากจิตของบุคคลที่มีเมตตานั้น ด้วยเหตุนั้นผู้ทำสมาธิจำเป็นต้องทำโดยแท้ ที่จำต้องทำให้มีขึ้นพร้อมทั้งกายวาจาใจ บางแห่งท่านให้เจริญแก่ท่านผู้มีโทสะจริต แต่ในที่นี้จะเป็นจริตอะไรก็ตาม จำจะต้องทำก่อน ถ้าจริตเป็นโทสะอยู่แล้วยิ่งจะสะดวกเข้าในการทำสมาธิจิต
พรหมวิหารนี้นัยหนึ่งท่านเรียกว่า พรหม ๔ หน้า หรือกำแพงสี่ทิศ เป็นเครื่องล้อมจิตโดยรอบ ถ้าใครทำให้มีขึ้นแล้ว จิตดวงนั้นย่อมไม่มีภัยเลย ถ้าจะพูดถึงการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุแล้วก็ดีมาก เป็นต้นว่าทำทานด้วยเมตตาจิต รักษาศีลด้วยเมตตาจิต ทำสมาธิด้วยเมตตาจิต เมื่อทำได้เช่นนี้ย่อมได้รับกุศลอันแรงกล้า เมตตาจิตนี้เปรียบประหนึ่งว่า เมล็ดฝนที่สะอาดตกลงมาจากท้องฟ้า แล้วยังให้ผลแก่ติณชาติ รุกขชาติงอกงามแช่มชื่นเต็มที่ และเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทุกเหล่า เหตุนั้นผู้แสวงบุญควรตรวจดูจิตขอตนอยู่เสมอๆ ว่า เรามีเมตตาจิตหรือไม่ เพื่อจะได้กระทำบำเพ็ญให้มีขึ้นทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้ถูกทางแห่งความสุขต่อไป ข้อสำคัญ เมตตานี้สำคัญมากที่จิต ถ้าจิตไม่มีเมตตาแล้ว รักษากายวาจายาก ถ้าหากจิตประกอบด้วยเมตตาจริงๆ แล้ว ความเศร้าหมองย่อมไม่มีแก่กายและวาจา กายวาจาเขาย่อมไม่รับ จิตจะเป็นผู้รับเอาผลชั่วทั้งหมด
--------------------------------------
#บทสวดแผ่เมตตา เมตตาอัปปมัญญาภาวนา
อะหัง อะเวโร โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ปราศจากเวร)
อัพยาปัชโฌ โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน)
อะนีโฆ โหมิ (ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ)
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ (ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ)
มะมะ มาตาปิตุ ( ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้า )
อาจาริยา จะ ญาติมิตตา ( จะ ครูอาจารย์ และญาติมิตร )
สะพราหมะจาริโน จะ ( ผู้ประพฤติธรรมทั้งปวง )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ (ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ)
อิมัสมิง อาราเม สัพเพ โยคิโน (ขอให้ท่านโยคี ( ผู้ทรงสมาธิ) ทั้งปวงในเขตนี้ )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ ( ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
อิมัสมิง อาราเม สัพเพ ภิกขู ( ขอพระภิกษทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในเขตนี้ )
สามะเณรา จะ ( และสามเณร )
อุปาสะกา อุปาสิกายา จะ ( ทั้งอุบาสกและ อุบาสิกา )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ( ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
อัมหากัง จะตุปัจจายะทายะกา ( ขอทายกทายิกา ผู้ให้ปัจจัย๔ แก่พวกเราทั้งหลาย )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ( ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
อัมหากัง อารักขา เทวาตา ( ขอเทวดาผู้อารักขาเราทั้งหลาย )
อิมัสมิง วิหาเร ( ในวิหารแห่งนี้ )
อิมัสมิง อาวาเส ( ในอาวาสแห่งนี้ )
อิมัสมิง อาราเม ( ในอารามแห่งนี้ )
อารักขา เทวาตา ( ขอเทวาผู้รักษาสถานที่เหล่านี้ )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปะริหรันตุ ( ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
สัพเพ สัตตา ( ขอสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ ปาณา ( ขอสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย )
สัพเพ ภูตา ( ขอภูติทั้งหลาย )
สัพเพ ปุคคะลา ( ขอบุคคลทั้งหลาย )
สัพเพ อัตตภาวา ปริยาปันนา ( ขอผู้มีอัตภาพทั้งหลาย )
สัพพา อิตถีโย ( ขอสตรีทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ ปุริสา ( ขอบุรุษทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ อริยา ( ขอพระอริยเจ้าทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ อนริยา ( ขอผู้ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ เทวา ( ขอเทวาทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ มนุสสา ( ขอมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งปวง )
สัพเพ วินิปาติกา ( ขอสัตว์วินิปาติกะทั้งหลาย ทั้งปวง )
อะเวรา โหนตุ ( จงปราศจากเวร )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( จงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน)
อะนีฆา โหนตุ ( จงปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ )
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ( ขอให้ท่านจงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
ทุกขา มุจจันตุ ( ขอสัตว์ทั้งหลายจงปราศจากความทุกข์ )
ยถา ลัทธาสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ( จงอย่าพลัดพรากจากสมบัติที่ได้มา )
กัมมัสสะกา ( ตนย่อมเป็นเจ้าของกรรมนั้น )
ปุรถิมายะ ทิสายะ ( ขอสัตว์ทั้งปวง ในทิศบูรพา ( ทิศตะวันออก )
ปัจฉิมายะ ทิสายะ ( ในทิศปัจฉิม ( ทิศตะวันตก )
อุตตรายะ ทิสายะ ( ในทิศอุดร ( ทิศเหนือ )
ทักขิณายะ ทิสายะ ( ในทิศทักษิณ ( ทิศใต้ )
ปุรถิมายะ อนุทิสายะ ( ในทิศอาคเนย์ ( ทิศตะวันออกเฉียงใต้ )
ปัจฉิมายะ อนุทิสายะ ( ในทิศพายัพ ( ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ )
อุตตระ อนุทิสายะ ( ในทิศอิสาน ( ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ )
ทักขิณายะ อนุทิสายะ ( ในทิศหรดี ( ตะวันตกเฉียงใต้ )
เหฎฐิมายะ ทิสายะ ( ในทิศเบื้องล่าง )
อุปาริมายะ ทิสายะ ( ในทิศเบื้องบน )
สัพเพ สัตตา ( ขอสัตว์ทั้งหลาย )
สัพเพ ปาณา ( ขอสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย )
สัพเพ ภูตา ( ขอภูติทั้งหลาย )
สัพเพ ปุคคะลา ( ขอบุคคลทั้งหลาย )
สัพเพ อัตตภาวา ปริยาปันนา ( ขอผู้มีอัตภาพทั้งหลาย )
สัพพา อิตถีโย ( ขอสตรีทั้งหลาย )
สัพเพ ปุริสา ( ขอบุรุษทั้งหลาย )
สัพเพ อริยา ( ขอพระอริยเจ้าทั้งหลาย )
สัพเพ อนริยา ( ขอผู้ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย )
สัพเพ เทวา ( ขอเทวา ทั้งหลาย )
สัพเพ มนุสสา ( ขอมนุษย์ทั้งหลาย )
สัพเพ วินิปาติกา ( ขอสัตว์วินิปาติกะทั้งหลาย )
อะเวรา โหนตุ ( อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย )
อัพยาปัชฌา โหนตุ ( อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย )
อะนีฆา โหนตุ ( อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย )
สุขี อัตตานัง ปะริหรันตุ ( จงมีความสุข บริหารตนให้พ้นจากทกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ )
ทุกขา มุจจันตุ ( ขอสัตว์ทั้งหลายจงปราศจากความทุกข์ )
ยถา ลัทธา สัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ ( จงอย่าพลัดพรากจากสมบัติที่ได้มา )
กัมมัสสะกา ( ตนย่อมเป็นเจ้าของกรรมนั้น )
อุทธัง ยาวะ ภะวัคคา จะ ( และสัตว์ที่อยู่สูงขึ้นไปจนถึงภวัคคภูมิ )
อโธ ยาวะ อวิจจิโต ( และสัตว์ที่อยู่เบื้องล่างจนถึงอเวจีมหานรก )
สมันตา จักกะวาเลสุ ( สัตว์ทั้งหลายในจักรวาล )
เย สัตตา ปถวิจารา ( ไม่ว่าสัตว์ใดที่อุบัติบนพื้นปฐพี )
อัพยาปัชฌา นิเวรา จะ ( ขอจงปราศจากการพยาบาทเบียดเบียน )
นิทุกขา จะ นุปัททวา ( ปราศจากทุกข์ และอุปัทวันตราย )
อุทธัง ยาวะ ภะวัคคา จะ ( ขอสัตว์ที่อยู่สูงขึ้นไปถึงภวัคคภูมิ )
อโธ ยาวะ อวิจจิโต ( และสัตว์อยู่เบื้องล่างในอเวจีมหานรก )
สมันตา จักกะวาเลสุ ( สัตว์ทั้งหลายในจักรวาล )
เย สัตตา อุทักเขจารา ( ขอสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในน้ำ )
อัพยาปัชฌา นิเวรา จะ ( ขอจงอย่าได้เบียดเบียนใครเลย อย่าได้มีเวรกับใครเลย )
นิทุกขา จะ นุปัททวา ( ปราศจากทุกข์ ปราศจากอุปัทวันตราย )
อุทธัง ยาวะ ภะวัคคา จะ ( ขอสัตว์ในโลกธาตุอื่น ที่อยูเบื้องบนคือภวัคคภูมิลงมา )
อโธ ยาวะ อวิจิโต ( ตั้งแต่อเวจีมหานรกขึ้นไป )
สมันตา จักกะวาเฬสุ ( ขอสัตว์ทั้งหลายในจักรวาลโดยรอบๆ )
เย สัตตา ปถวิจารา ( ไม่ว่าสัตว์ใดที่อุบัติบนพื้นปฐพี )
อัพยาปัชฌา นิเวรา จะ ( ขอจงอย่าได้เบียดเบียนใครเลย อย่าได้มีเวรกับใครเลย )
นิทุกขา จะ นุปัททวา ( ปราศจากทุกข์ ปราศจากอุปัทวันตราย ทั้งสิ้นเทอญฯ )
---------------------------
ป.ล.ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ
: เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก
mk007
10/12/59
"สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและมั่นใจในสิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียวโดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้นเป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย"
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ไม่ละพยายาม แม้ยาวนานชั่วกัปกัลป์!! ย้อนเล่า "สุเมธ ดาบส"บุรุษผู้ได้รับคำนายว่า อีก ๔ อสงไขแสนกัป ดาบสผู้นี้จะได้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า !
ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ของเราทรงถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่า สุเมธ เป็นผู้คงแก่เรียนเชี่ยวชาญในศาสตร์ทั้งหลายที่มีอยู่ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อบิดามารดาละโลกไปแล้ว เบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด จึงสละทรัพย์ถวายพระราชาใช้บำรุงบ้านเมือง แล้วออกบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์ ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน บรรลุฌาน อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ มีความสุขในการเข้าฌาน
วันหนึ่งท่านสุเมธดาบสออกจากฌานสมาบัติ เหาะไปในอากาศ เห็นชาวเมืองช่วยกันแผ้วถางหนทาง และปรับพื้นที่ให้เป็นทางเดินกันอยู่มากมาย จึงลงจากอากาศไปสอบถาม ได้รับคำตอบว่าเตรียมหนทางให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์อรหันตสาวก ๔ แสนรูป เสด็จบิณฑบาตตามที่ชาวเมืองทูลอาราธนาไว้
เมื่อสุเมธดาบสได้ยินคำว่า พุทธะ ก็มีความปีติตื่นเต้นยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงขอมีส่วนร่วมในการทำทางบ้าง ชาวเมืองแบ่งส่วนที่เป็นโคลนตมให้ เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีฤทธิ์เหาะได้ แต่สุเมธดาบสต้องการให้ได้บุญกุศลมาก จึงกระทำด้วยเรี่ยวแรงของตนเองไม่ยอมใช้ฤทธิ์ พยายามขนดินมาถมทาง ในขณะทำงานก็เปล่งคำว่า "พุทโธ พุทโธ" ด้วยความปีติตลอดเวลา
จนกระทั่งถึงเวลาพระบรมศาสดาเสด็จมา หนทางส่วนที่เป็นของสุเมธดาบสยังทำไม่เสร็จ เป็นที่โคลนตมเฉอะแฉะอยู่เท่าช่วงตัว สุเมธดาบสตัดสินใจใช้ร่างกายของตนเองนอนบนเลนทอดร่างต่างสะพาน มองดูพระพุทธลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ พร้อมด้วยอนุพยัญชนะ(ส่วนปลีกย่อย) ๘๐ พระบรมศาสดามีพระรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระสรีระล้อมรอบด้วยพระรัศมีแปลบปลาบประดุจสายฟ้า
เหล่ามนุษย์และเทพยดาต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการ ตามเสด็จพระองค์มามากมายเหลือคณานับ ดาบสเห็นแล้วพลันปรารถนาจะเป็นเช่นองค์พระบรมศาสดานั้น ไม่ต้องการเป็นพระอรหันต์ซึ่งสามารถเป็นได้ในชาตินั้น จึงอธิษฐานจิตขออำนาจบุญกุศลที่ตนใช้ร่างกายต่างสะพานให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จผ่านพร้อมพระขีณาสพอีก ๔ แสนรูป บันดาลให้ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ประทับยืนอยู่ชิดศีรษะสุเมธดาบส ทรงทราบว่า ดาบสโพธิสัตว์กำลังกระทำอธิการอยู่ พร้อมทั้งเปล่งวาจาปรารถนาพุทธภูมิ พระองค์ทรงตรวจไปในอนาคตตังสญาณว่า ดาบสผู้นี้จะสมปรารถนา จึงตรัสพยากรณ์ว่า
"นับแต่นี้ต่อไปเป็นเวลา ๔ อสงไขแสนกัป สุเมธดาบสผู้นี้จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า"
นับแต่เวียนว่ายตายเกิดสร้างบารมีมานับชาติไม่ถ้วน ชาตินี้เป็นชาติแรกที่พระโพธิสัตว์ของเรา ได้รับพุทธพยากรณ์ สุเมธดาบสดีใจเป็นล้นพ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสคำใดต้องเป็นไปตามนั้น เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ยินพระพุทธพยากรณ์นั้น ก็พากันดีใจถ้วนหน้า ว่าถ้าหากพวกตนยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ ก็จะไม่ท้อถอย จะเร่งสร้างบารมีเรื่อยไปทุกภพทุกชาติ แล้วจะได้ไปบรรลุธรรมในชาติที่สุเมธดาบสบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรียบเรียงโดย
จินต์จุฑา เจนสระคู : สำนักข่าวทีนิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น