วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ศีลวิสุทธิ

ศีลวิสุทธิ

ศีลมีจำแนกไว้หลายหมวดหลายนัย

ในที่นี้จะแสดงเพียงหมวดเดียวคือ ศีล ๔ อย่าง หมวด ๔ คือ ปาติโมกขสังวรศีล  อินทรียสังวรศีล  อาชีวปาริสุทธิศีล  ปัจจยสันนิสสิตศีล  

๑.๑   #ปาติโมกขสังวรศีล คือ ศีลที่สำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดทางกายทางวาจา  ความระวังนี้เองคือการสังวร
บุคคลผู้ประกอบด้วยศีล ๕ , ๘ , ๑๐ , ๒๒๗ , ๓๑๑
ย่อมยังความถึงพร้อมในการสังวร  บุคคลที่ไม่มีความสำรวมระวังในการอยู่ ในการไปในการอาศัย ย่อมทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้

            การสำรวมในการโคจรที่ดี มี ๓ อย่าง
คือ  อุปนิสสยโคจร  อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร
๑.๑.๑   อุปนิสสยโคจร  คือ การโคจรซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ได้แก่
         -พิจารณาว่า        ทำแล้วย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง
         -   พิจารณาว่า        ทำแล้วย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง 
         -   พิจารณาว่า        ทำแล้วย่อมสิ้นความสงสัย    
         -   พิจารณาว่า        ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง
         -   พิจารณาว่า        ย่อมทำจิตใจให้ผ่องใส
         -   พิจารณาว่า        กัลยาณมิตรย่อมยังให้เจริญด้วยศรัทธา
         -   พิจารณาในศีล 
         -   พิจารณาในสุตะ   คือการฟังการศึกษาเล่าเรียน
         -   พิจารณาในจาคะ  คือการบริจาค   
         -   พิจารณาในปัญญา   การงานต่างๆ
ของบุคคลที่พิจารณาในข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการนี้ จะเป็นการช่วยทำให้การรักษาศีลในขั้นปาติโมกขสังวรศีลเป็นไปได้สะดวกดีเพราะพิจารณาในทุกๆ เรื่องก่อนว่าสิ่งใดกระทำแล้วเป็นไปเพื่อละกิเลสจึงกระทำ  สิ่งใดกระทำแล้วเป็นการบำรุงกิเลสก็งดเว้นเสีย

๑.๑.๒  อารักขโคจร  คือ การไปในที่ต่างๆ ก็ให้กำหนดไม่ให้มองสอดส่าย สังวรระวัง เดินอย่างสำรวม
ไม่เหลียวดูสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ ไม่ดูสตรี ไม่ดูบุรุษ อย่างนี้คือมีความอารักขาดูแลตนในการไปในที่ต่างๆ

๑.๑.๓อุปนิพันธโคจร คือ การโคจรไปในที่ต่างๆ โดยสำรวมระวังผูกจิตไว้ โดยการกำหนดสติปัฏฐาน ๔

๑.๒   #อินทรียสังวรศีล  คือ ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖
คือการมีสติสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  จากพระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
มหาบพิตร  อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
มหาบพิตร  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักขุแล้ว
ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ  เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์
ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมลามก  คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ  นั้นชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์   ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์  ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต...ดมกลิ่นด้วยฆานะ...ลิ้มรสด้วยชิวหา...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้เเจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ถือนิมิต  ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
 คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์
 ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์   ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้  ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน  มหาบพิตร  ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย   ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.

         อธิบายโดยสรุปได้ดังนี้ คำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนั้นโดยแท้จริงแล้ว คือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จักษุนั้นเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้เพราะไม่จักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกัน
บุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตที่เกิดขึ้นที่จักษุนั้นเอง
การไม่ยึดถือซึ่งนิมิต คือ การไม่ยึดถือนิมิตเครื่องหมายว่าเป็นหญิงเป็นชายหรือความสวยงามซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย  ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น
            การไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ  คือ ไม่ยึดถือในกิริยาอาการต่างๆ เช่นเห็นว่า ยิ้มสวย เวลายิ้มมีลักยิ้มที่แก้ม กิริยาที่หัวเราะก็น่ารัก เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ  อภิชฌา คือ โลภะ โทมนัส คือ โทสะ เมื่อมีการสำรวมอินทรีย์ในทวารทั้งหลายแล้ว อกุศลธรรมอันลามกก็จะไม่เกิดขึ้น
          เมื่อบุคคลมีสติในการสำรวมสังวรระวังอยู่
 ก็จะสามารถกั้นอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน เป็นต้นได้ 
บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์ก็เหมือนคนที่มุงหลังคาไม่ดี
ฝนย่อมรั่วรดถูกตัวเสมอ คล้ายกับกิเลสที่รั่วไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมรั่วรดจิตใจเสมอ ตนก็จะต้องเช็ดน้ำตาเรื่อยไป ถ้าหากว่าผู้ที่มีการสำรวมอินทรีย์ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาดีแล้ว
ฝนย่อมไม่รั่วลงมารดตัว  ตนก็ไม่ต้องเช็ดน้ำฝน  นี้ก็เช่นเดียวกัน  ถ้ามีการสำรวมอินทรีย์แล้วกิเลสก็ไม่รั่วเข้ารดใจ
เมื่อเห็นหรือได้ยินแล้ว อกุศลธรรมต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น

๑.๓  #อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ศีลที่เกี่ยวกับการหาเลี้ยงชีพโดยบริสุทธิ์
เป็นการประกอบอาชีพโดยสัมมาอาชีวะ สำหรับฆารวาสคือการเว้นมิจฉาชีวะต่างๆ
สำหรับพระภิกษุ สามเณร คือเว้นจากการประจบประแจง การเป็นทูตให้แก่ญาติโยม เป็นต้น

๑.๔  #ปัจจยสันนิสสิตศีล คือ ศีลที่อาศัยการบริโภคปัจจัย
๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา  ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอาทิว่า
“ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร
เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น...”    ความแยบคายในการใช้สอยในการบริโภคนั้นมีความสำคัญเพราะจะได้ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์ภายนอกเกินควร 
ใช้สอยอย่างรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ตรงชัดที่จะได้รับ มิใช่ใช้สอยเพื่อประกาศฐานะยศฐาบรรดาศักดิ์
  ส่วนในด้านของภิกษุก็ได้แก่ ก่อนที่จะ   รับประเคนอะไรก็ต้องพิจารณาก่อนว่าควรรับไหม  รับมาเพื่ออะไร  ถ้าเป็นอาหารบิณฑบาตเมื่อเวลาจะฉันก็ต้องพิจารณาว่าฉันเพื่ออะไร
 ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น

อินทรียสังวร
กับปาติโมกขสังวร ต่างกันอย่างไร  ? 

ถ้ามีปาติโมกขสังวร
ไม่ต้องมีอินทรียสังวรได้ไหม ?

อินทรียสังวรเป็นการสังวรในขณะที่ตาเห็นรูป
 หูได้ยินเสียง เป็นต้น  แต่ปาติโมกขสังวรนั้นเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อไม่ให้ไปรับรูป
เสียง เป็นต้น เช่นข้อห้ามในศีล คือ ไม่ให้ดูฟังการฟ้อนรำขับร้อง  แต่เมื่อเวลาเห็นได้ยินแล้วถ้าไม่มีอินทรียสังวรกำกับไว้ก่อนกิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้ามีปาติโมกขสังวรแล้วก็ควรปฏิบัติควบคู่กับอินทรียสังวรด้วย จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำลายความชอบใจและความไม่ชอบใจได้  อินทรียสังวรสามารถชำระกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลางละอภิชฌา(โลภ) และโทมนัส(โทสะ) ที่เกิดทางใจได้ และสามารถทำลายกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ มีทิฏฐิ เป็นต้น  ส่วนปาติโมกขสังวรศีล ทำลายได้แต่กิเลสอย่างหยาบคือกิเลสทางกายกับวาจา  

ศีล
เหตุที่ทำให้สำเร็จ

๑. ปาติโมกขสังวรศีล
สำเร็จได้ด้วยศรัทธา  ตัวอย่างเช่น พระเถระที่ถูกโจรมัดด้วยเถาหญ้านาง(ท่านมีศรัทธาในการรักษาศีลข้อห้ามตัดทำลายของเขียว แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม) ท่านนอนเจริญวิปัสสนาอยู่อย่างนั้นตลอด
๗ วัน ได้บรรลุพระอนาคามีผล แล้วมรณภาพในดงนั่นเอง

๒.  อินทรียสังวรศีล
สำเร็จได้ด้วยสติ  ถ้ามีสติในอินทรีย์ทั้งหลายคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  บาปอกุศลทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล
สำเร็จได้ด้วยวิริยะ เพราะวิริยะที่ปรารภธรรมโดยชอบแล้วก็เป็นการประหาณมิจฉาอาชีวะได้

๔. ปัจจยสันนิสสิตศีล
สำเร็จได้ด้วยปัญญา  ผู้มีปัญญาจึงจะสามารถมองเห็นโทษและอานิสงส์ของปัจจัยทั้งหลายได้
บันทึกธรรมอาจารย์ทองสุข ทองกระจ่าง  คัดลอกจากบทเรียนชุด10เรื่องวิปัสสนา เรียบเรียงโดยอาจารย์ทองสุข ทองกระจ่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น